ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เล่าประสบการณ์ในการออกแบบและสร้างเครื่องลวกขูดขนหมูอัตโนมัติ

  ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด ผมได้ลองออกแบบและสร้างเครื่องลวกและขูดขนหมูอัตโนมัติจากญาติของภรรยาผมซึ่งได้เปิดกิจการเป็นโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งยังไม่มีเครื่องจักรใดๆอาศัยแรงงานคนในการทำงาน 

  โจทย์หลักของผมคือสร้างเครื่องจักรที่สามารถลวกและขูดขนหมูได้ประมาณ 20 ตัวต่อชั่วโมง

ผมเริ่มหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต สืบค้นหนังสือและ Patent เกี่ยวกับเรื่องนี้ทันที ได้เอกสารมาปึกหนึ่งประกอบด้วยองค์ความรู้ต่างๆ เช่น ความร้อนที่ใช้ในการขูดขน ลักษณะของใบที่ใช้ขูดขน มุมของใบขูดขนที่กระทำกับผิวหนังของหมู ลักษณะที่รองรับหมูเพื่อให้หมูหมุนขณะทำการขูดขน 

     ผมเริ่มนำข้อมูลต่างๆที่ได้มาเข้าสู่กระบวนการออกแบบด้วยวิธี Graphical คือการร่างแบบด้วยมือ ตลอดจนหาข้อมูลของเครื่องขูดขนที่มีขายในท้องตลาดประกอบกันไปด้วย





     ผมโทรหาผู้จำหน่ายเครื่องขูดขนหมูในประเทศไทยแทบทุกเจ้าที่ผมหาได้ เพื่อสอบถามราคา และรายละเอียดของเครื่องที่พวกเขามีจำหน่าย โดยครั้งแรกเลยคิดว่าจะซื้อมาขายต่อโดยเอากำไรเล็กๆน้อยๆ แต่เมื่อศึกษาลึกลงไปกลับพบว่า หากเราซื้อมาขายต่อคนที่โดนด่าคงเป็นเราแน่ๆหากเครื่องเสียขึ้นมา 

     แทบทุกเจ้าจะมีลักษณะเครื่องที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ ใช้โซ่หรือสายพานในการขับเคลื่อน และใช้น้ำมันนำความร้อนเพื่อถ่ายเทความร้อนจากฮีตเตอร์มาสู่น้ำ และไม่มีผู้ผลิตเจ้าใดที่ใช้ระบบอัตโนมัติ ส่วนราคาก็ถูกบ้างแพงบ้างตามรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปเช่น เหล็กชุบสังกะสีหรือสแตนเลส ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกหรือแพ็คเกจการขายของแต่ละเจ้า 

      ผมต้องกลับมานั่งตีโจทย์ว่าต้องออกแบบอย่างไรให้ไม่เหมือนกับเครื่องที่มีจำหน่ายอยู่แล้ว ซึ่งผมเป็นคนประเภทขี้เกียจ คือขี้เกียจที่จะเข้าไปซ่อมบำรุง ฉะนั้นสิ่งที่ผมต้องทำก็คือออกแบบเครื่องไม่ให้มีการซ่อมบำรุง และหากเครื่องใช้ไม่ได้ขึ้นมาคนที่ต้องรับผิดชอบก็คือคนขายเครื่อง ฉะนั้นโจทย์สำคัญที่สุดคือไม่อยากให้ต้องมีการหยุดซ่อมเครื่อง 

      ผมตั้งโจทย์นี้ขึ้นมาและพยายามนั่งออกแบบทีละส่วนตั้งแต่หัวใจหลักและส่วนประกอบต่างๆไล่ตั้งแต่ระบบขูดขน ระบบเพลา ระบบขับเคลื่อน ระบบให้ความร้อน และระบบที่ช่วยเสริมความสะดวกให้ผู้ใช้งาน คือ การส่งหมูออกนอกเครื่องและการรับหมูเข้าเครื่อง 



      แต่ปัญหาก็คือ ผมไม่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับหมูเลย ผมมีความรู้เพียงแค่ด้านวิศวกรรมเครื่องกล แต่ก็ใจดีสู้เสือ พยายามออกแบบและคำนวณระบบเพลาขูดขน พยายามเลือกใช้ยางขูดขน ออกแบบมุมขูดขนที่คิดว่าเหมาะสม ออกแบบระบบทุกอย่างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ตลอดจนโทรหาผู้ผลิตและจำหน่ายอะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆเพื่อขอ Data sheet มาศึกษาและออกแบบควบคู่กันไป 

     โชคดีที่ผมเจอมาตรฐาน PAES 507 ซึ่งเป็นสเป็คเครื่องขูดขนหมู ซึ่งเป็นมาตรฐานของประเทศฟิลิปปินส์ ผมจึงใช้มาตรฐานนี้มาเป็นไกด์ในการสร้างเครื่องจักรของผม 

    เมื่อออกแบบเสร็จก็ได้นั่งถอดชิ้นส่วนทั้งหมดเพื่อสั่งผลิตด้วยการตัดเลเซอร์และวอเตอร์เจ็ท วันนั้นจำได้ว่าผมมือสั่นมาก เนื่องจากต้องจ่ายเงินค่าผลิตโครงสร้างไปสามแสนกว่าบาท (ไม่เคยจ่ายเงินต่อวันไปเยอะขนาดนั้น )

 


    สองสามวันต่อมา อะไหล่ชิ้นส่วนต่างๆก็ทยอยกันเข้ามา ทั้งหมดทั้งมวลรวมๆแล้วก็สามแสนกว่าบาทอีก (แต่คราวนี้มือไม่สั่นแล้ว เพราะยอดน้อยกว่าครั้งแรกหน่อยนึง Haha ) 



   เมื่อถึงวันประกอบ ชิ้นส่วนต่างๆก็ถูกประกอบและตรวจเช็คไปพร้อมๆกัน มีปัญหาขลุกขลิกนิดหน่อยเกี่ยวกับชิ้นส่วนชิ้นเล็กๆที่หายไป แต่ก็หาเจอเพราะร่วงไปอยู่ด้านล่างของชิ้นงานอื่น และร้านผลิตตัดมาไม่ครบ ก็รายงานทางร้าน เมื่อชิ้นส่วนครบ การประกอบก็เริ่มต้นขึ้น



    การประกอบชิ้นส่วนดำเนินอยู่ประมาณ 7 วัน ก็เสร็จสมบูรณ์ ภาระกิจต่อไปของเราก็คือการใส่สมองให้เครื่องจักรของเรา  การออกแบบและเลือกอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นความรับผิดชอบของวิศวกรเมคคาทรอนิกส์ที่คอยช่วยงานกันตลอด  ค่าอุปกรณ์ทั้งหมดของงานไฟฟ้าประมาณ หกหมื่นปลายๆ 



   ทุกอย่างเข้าที่ ทั้งร่างกายและสมอง ( ร่างกายเปรียบเสมือนตัวเครื่อง ส่วนสมองก็คือระบบควบคุม ) ทั้งคู่ถูกต่อสายเข้าด้วยกัน การรันแห้งใช้เวลานานมากไม่ได้ เนื่องจากซีลเพลาไม่ควรรันแห้ง เมื่อเห็นว่าทุกอย่างปกติดี จึงเตรียมตัวส่งมอบให้คุณน้า เจ้าของโรงฆ่าสัตว์ที่จ้างทำ


   วันขนส่ง ปรากฎว่าชายผ้าเต้นท์ที่สะบัดเพราะลม ได้ทำปุ่มกดของตู้ควบคุมหักไป 2 ตัว จึงต้องซื้อเพื่อเปลี่ยนที่หน้างาน



  วันติดตั้งมาถึง ....

  เครื่องเข้าประตูไม่ได้ เนื่องจากกว้างกว่าประตู ...

  จึงต้องถอดอุปกรณ์บางตัวออกก่อน เพื่อยกโครงสร้างหลักเข้าให้ได้ก่อน แล้วค่อยประกอบกันใหม่

   เครื่องหนักมาก ประกอบกับเป็นช่วงที่น้ำกำลังท่วมทางเข้า จึงไม่สามารถนำโฟลคลิปมาได้ ทำให้ต้องใช้แรงงานคนกว่า 10 คน มาช่วยกัน  บอกตรงๆครับ อายมาก...^^



   หลังติดตั้งก็ได้มีการปรับปรุงเครื่องเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาแผลที่ตัวและขาหมู ผมก็ได้ออกแบบและสั่งชิ้นส่วนเพิ่มเพื่อมาติดตั้งแก้ปัญหา  ปัญหาฮีตเตอร์พังเนื่องจากล้างไม่สะอาด ผมก็ได้เปลี่ยนฮีตเตอร์เป็นแบบล้างง่าย   




ขอบคุณทุกท่านที่เป็นส่วนหนึ่งของผลงานนี้ ขอบคุณน้าบ่าว เจ้าของโรงฆ่าสัตว์บางสวรรค์ ผู้ที่ให้โอกาสทั้งๆที่รู้ว่าผมไม่มีความรู้เลย   


ตอนนี้ ใช้งานมาหลายเดือนแล้ว หวังว่า คงใช้งานได้ตลอดไปตามอายุการใช้งานที่ออกแบบไว้

  นับว่าเป็นประสบการณ์และความรู้ที่ยิ่งใหญ่ในช่วงโรคระบาด ที่ผมได้รับโอกาสได้สร้างผลงาน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ ผมได้ปรับปรุงแบบเป็นรุ่นที่ 2 ชื่อว่า HDM-90 R2 ซึ่งได้ยิ่นจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว 

เลขที่ 2101002068

     ซึ่งได้เสนอผลงานเพื่อขอเป็นส่วนหนึ่งในตลาด โดยคาดหวังว่างานของผมจะช่วยให้เจ้าของกิจการจ่ายเงินครั้งเดียวจบ ไม่มีค่าซ่อมบำรุงหรือต้นทุนแฝงใดๆทั้งสิ้น ถูกสุขลักษณะและประหยัดเวลา เนื่องจาก ใช้เวลาทำงานต่อหนึ่งตัวเพียง 90 วินาที ( เป็นที่มาของชื่อ HDM-90 )






ติดตามผลงานได้ที่ https://www.facebook.com/HogDehairingMachineThailand

ขอบคุณมากครับ

EngineerM ConveyorMan

18 June 2021

Made in Thailand

 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวมปุ่มลัด และคำสั่ง SolidWorks ในหมวดต่างๆ พร้อมไอคอนและชื่อคำสั่ง

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน โปรแกรม 3 มิติ ที่ได้รับความนิยมสูงมากในปัจจุบัน ที่ไม่ต้องบอกก็ทราบว่าคือโปรแกรมอะไร การฝึกฝนและจดจำคำสั่งสำหรับผู้เริ่มต้นจะเป็นอะไรที่ค่อนค่างยุ่งยาก จึงขอสรุปเป็นภาพและนำมาฝากทุกท่านครับ ขอให้ทุกท่านบรรลุผลในสิ่งที่มุ่งหวังทุกประการ ท่านสามารถพิมพ์เป็นเอกสารหรือบันทึกเก็บไปใช้ได้ตามความประสงค์ ขอบคุณที่มาของเอกสารด้วยครับ

ขนาดของเพลาและขนาดร่องลิ่ม

            หลายครั้งที่ผู้เขียนไปวัดแบบเครื่องจักรที่มีส่วนประกอบของเพลาและร่องลิ่ม จึงขอนำความรู้เกี่ยวกับเรื่องร่องลิ่มมาฝาก โดยในบทความนี้ไม่ขอลงลึกในส่วนการคำนวณ หรือสูตรต่างๆ แต่ขอยกวิธีการใช้งานมาเลย นั่นคือ เพลาขนาดเท่าไหร่ จึงจะใช้ร่องลิ่มขนาดที่สัมพันธ์กัน โดยอาศัยตารางที่แนบมานี้ หวังว่า พี่น้องชาววิศวกรออกแบบทุกท่าน คงจะออกแบบได้ง่ายขึ้น  หรือ ท่านผู้อ่านสามารถดาวน์โหลด App ไปใช้งานบนอุปกรณ์ Android กันได้ง่ายๆ เกี่ยวกับขนาดเพลาและร่องลิ่ม ราคาแอปพลิเคชั่นแค่ 13 บาท จากที่นี่  https://play.google.com/store/apps/details?id=com.appybuilder.Anuwat_Kongpan.Shaft_and_Key   สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิศวกรรมได้ที่นี่ครับ

การออกแบบ Screw Conveyor

สกรูคอนเวย์เยอร์ คืออะไร? คาดว่าทุกท่านคงรู้จักกันดี เป็นเกลียวหมุนอยู่ในรางหรือในท่อทรงกลม เพื่อลำเลียงวัสดุบางอย่างตามที่ออกแบบคำนวณไว้ ส่วนประกอบต่างๆมีดังนี้ ประวัติของสกรูคอนเวย์เยอร์นี้ มียาวนานมาก สมัยอาร์คีมีดีส ผันน้ำตั้งแต่ก่อนเริ่มศาสนจักรไป 267 ปี เชียวนะ ( จริงๆ นะ )  มีหลายแบบ ทั้งแบบมีเพลาและไม่มีเพลา ( Ribbon ) ขึ้นอยู่กับว่าเราออกแบบเพื่อลำเลียงอะไร ข้อได้เปรียบของสกรูคอนเวย์เยอร์คือ 1.สร้างง่าย 2.น้ำหนักเบา 3.ใช้พื้นที่น้อย 4.ต้นทุนการทำงานต่ำ 5.ลำเลียงวัสดุได้หลายหลาก 6.ลำเลียงได้ทุกองศาตั้งแต่แนวราบจนถึงแนวดิ่ง ความเลวของสกรูคอนเวย์เยอร์ ( 55 ) 1.มีการสึกหรอของรางที่เสียดสีกับวัสดุ 2.วัสดุที่ลำเลียงอาจถูกกระทบโดนใบสกรู 3.ความแข็งแรงขึ้นกับวัสดุที่ขนถ่าย อาจจะใชำกำลังไฟฟ้ามากในบางกรณี Parameter ต่างๆที่เกี่ยวข้องมีดังนี้ 1.Screw Pitch คือระยะพิทช์ของใบสกรูนั่นเอง 2.RPM of screw คือ รอบการหมุนของใบสกรูลำเลียง 3.Inclination Factor ค่าแฟคเตอร์มุม หรือ ค่า C  4.Loading efficiency ค่านี้ดูได้จากวัสดุกัดกร่อนม...