ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

คัดลอกบันทึกเก่า จาก สมณะรูปหนึ่ง ที่มาธุดงค์ ปักกลด ในถ้ำไกล้บ้านข้าพเจ้า เมื่อราวสมัยปี 2535-2538

 สมุดจดบันทึกเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของสมุดพระราชทานของเด็กๆในสมัยนั้น ที่เหลือจากการใช้งานที่โรงเรียน โดยได้ถูกแปรรูปเป็นสมุดโน๊ตขนาดพ๊อคเก็ตบุ๊คโดยสมณะ ศากยะ ปุติยะ รูปหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าก็มิได้รู้จัก

สมัยที่ข้าพเจ้ายังเด็ก จำได้ประมาณตรงกับปี พ.ศ.2535-2538 ข้าพเจ้าได้ใส่บาตรครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่มีครั้งไหนที่รู้สึกเช่นครั้งนั้น

บ้านของครอบครัวข้าพเจ้าตั้งอยู่ไม่ไกลจากภูเขาที่มีถ้ำ และมีลำห้วยไหลผ่าน ผู้คนชาวบ้านในละแวกนี้ประกอบอาชีพกสิกรรมเลี้ยงชีพ สมัยนั้นถนนหนทางยังลำบาก ขาดความเจริญทุกด้าน ทำให้การไปมาหาสู่กันระหว่างเพื่อนบ้านทำได้ลำบาก เนื่องจากแต่ละบ้านจะมีระยะทางที่ไกลกันพอสมควร บ้านที่ไกล้กันที่สุดน่าจะใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 10 นาทีจึงจะไปถึง ประมาณเอาโดยการที่ข้าพเจ้าไปซื้อขนมที่ร้านค้าในสมัยนั้น

ช่วงเย็นวันหนึ่ง แม่ของข้าพเจ้าได้บอกกับข้าพเจ้าว่ามีพระธุดงค์มาปักกลดอยู่ในถ้ำ พรุ่งนี้ต้องหุงข้าวทำแกงตักบาตร ในคืนนั้นก่อนที่แม่จะไปกรีดยางก็ได้หุงข้าวทำแกงเอาไว้เสร็จสรรพ และได้บอกกับข้าพเจ้าที่ยังนอนอยู่ในมุ้งว่า "นุ้ยคอยแลพระกัน ถ้าพระมาก้าให้ลงมาตักบาตร ก่อนเอาข้าวใส่บาตรอย่าลืมให้ยกข้าวขึ้นไว้บนหัวแล้วแหลงว่า ข้าวของข้าพเจ้า ขาวดั่งดอกบัว ยกขึ้นเหนือหัว ถวายแด่พระสงฆ์ จิตใจจำนงค์ ตรงต่อพระนิพพาน" และให้ข้าพเจ้าทวนอีกครั้งจากนั้นแม่ของข้าพเจ้าก็ไปกรีดยาง

พอฟ้าแจ้ง ข้าพเจ้าตื่นได้ไม่นานก็ได้ยินเสียงหมาเห่าทำนองเรียกข้าพเจ้า เพราะเห่าครั้งเดียว ข้าพเจ้าเปิดประตูดูก็เห็นพระยืนอยู่หน้าบ้าน จึงได้ยกถ้ายข้าวถ้วยแกงลงมา ถือข้าว-แกงยืนอยู่ที่หน้าพระ แล้วยกขึ้นไหว้เหนือหัวพร้อมกล่าวบทพยัญชนะตามที่แม่ได้บอกไว้...

ข้าพเจ้าได้ยินเสียงเบาๆ ฟังไม่ชัด จึงได้ถามพระไปว่า อะไรนะ พระท่านก็บอกอีกครั้ง แต่พ้าพเจ้าก็ยังไม่ได้ยินอีก จึงถามซ้ำอีกครั้ง พร้อมเอาหูไปไกล้ๆท่าน ทีนี้ข้าพเจ้าได้ยินเบาๆว่า "ถอดรองเท้าก่อน"

หลังจากที่ได้ยินดังนั้นข้าพเจ้าจึงได้ถอดรองเท้าฟองน้ำอีแตะออก พร้อมใส่บาตรโดยเทข้าวและแกงลงในบาตร โดยแกงที่ใส่นั้นเป็นแกงส้ม ส่วนน้ำก็ถ่ายน้ำจากขันน้ำลงในกระป๋องยาฉีดหญ้ากรัมม๊อกโซนที่ท่านนำมาแปรรูปเป็นขวดน้ำ เมื่อเสร็จก็นั่งลงไหว้ แล้วท่านก็ได้เดินจากไป

ตอนนั้นทุกเช้าผมก้ได้ใส่บาตรทุกวันในระยะเวลาที่ท่านอยู่ที่ถ้ำนั้น ถึงเวลาวันพระ ชาวบ้านก็ได้รวมกันทำอาหารไปทำบุญที่ลานถ้ำ ผมก็ได้ไปที่นั่นพร้อมกับแม่ด้วย เมื่อไปถึงผมเห็นรอยของรถยนต์บนพื้นดินฝุ่น ผมก้เลยถามแม่ว่า "รถไครเข้ามาในป่านี้ได้?" แม่บอกว่า "ไม่ใช่รอยรถ ไปแลแค่ๆต่ะ" หมายถึงให้ผมไปดุไกล้ๆ เมื่อผมเดินไปดูพบว่าเป็นรอยเท้าที่เดินวนขนานกันไปกลับ เท่าๆกับช่วงระหว่างล้อรถยนต์บนถนนดินสมัยนั้นที่หญ้าขึ้นตรงกลาง แม่บอกว่าเป็นรอยทางเดินจงกรม ผมได้แต่สงสัยว่าทำไมพระต้องเดินจนเกิดรอยแน่นและสวยงามอย่างนี้

หลังจากที่ชาวบ้านได้ถวายภัตตาหารตามคำในศาสนพิธีแล้วท่านสมณะก็ได้แสดงธรรมพร้อมกับแจกจ่ายสมุดเล็กๆเล่มนี้ไว้ให้ชาวบ้านที่ไปทำบุญ สมุดเล่มนี้ได้ถูกนำขึ้นไว้บนหิ้งในห้องนอนเมื่อใดผมก็ไม่ทราบได้ เพราะผมก็ไม่เคยได้อ่าน จำได้ว่านำมาอ่านแล้วอ่านไม่รู้เรื่อง

สามสิบปีต่อมา ผมได้พบบันทึกธรรมเล่มนี้อีกครั้ง และได้อ่าน พบว่า ทุกบทพยัญชนะที่ท่านได้บันทึกไว้นี้ เข้ากันได้ ลงกันได้กับธรรมของพระพุทธองค์ เปรียบดั่งน้ำนมกับน้ำ เพียงแต่เป็นบทธรรมที่ได้สรุปเป็นภาษาที่ใช้สอนชาวบ้าน มิได้เป็นบทพยัญชนะเดิมที่พระพุทธองค์ใช้สอนภิกขุ นับว่าบันทึกเล่มนี้มีคุณค่ามากทั้งทางโลกและทางธรรม ถ้าให้เลือกระหว่างบันทึกเล่มนี้กับหลวงพ่อทวดรุ่น 1 ข้าพเจ้าก็เลือกบันทึกเล่มนี้ เพราะมีคำสอนที่สอนคนอ่านให้ถึงมรรคผลนิพพานได้จริง

ตอนนี้ข้าพเจ้าอยากทราบว่า สมณะ ศากยะ ปุติยะ รูปนี้ ที่จารึกเอาไว้ในสมุดบันทึกคำสอนเล่มนี้ว่า ธรรมทาส ภิกษุ สมณะกุศโล ตอนนี้ท่านอยุ่ที่ใด ขอได้โปรดบอกข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าประสงค์อยากกราบเท้า ใส่บาตรและฟังธรรมจากท่านเป็นอย่างมาก เพราะความรู้สึกปีติตอนใส่บาตรกับท่านครั้งข้าพเจ้ายังเป็นเด็กน้อยไม่รู้ประสายังคงตามมาคอยชะโลมจิตใจข้าพเจ้าทุกครั้งเวลาทำบุญ

ญาติโยมท่านใดทราบว่าท่านอยู่ที่ไหนก็โปรดช่วยบอกข้าพเจ้าด้วย

อนุวัต คงปาน

ผู้คัดลอกต้นฉบับจากสมุดบันทึกเดิมมาเป็นเอกสารดิจิตอล

29/เมษายน/2565

 

บันทึกเดิม ขนาด 4 x 6 นิ้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

ขอทุกท่านได้มีส่วนร่วมแห่งบุญในครั้งนี้

 

ไม่สงวนลิขสิทธิ์ 

..........................................................................................................................................................................




แก่นธรรม

คู่มือ

ชีวิต สมณะ

ชี้แนวทางปฏิบัติ สู่แดน อมตธรรม

โดย

ธรรมทาส ภิกษุ

สมณะกุศโล

 

 

 

 

 

 

การขจัดความอยากที่หลั่งไหล                                 ใจ

การระงับคำพูดเปล่าดาย                                        วาจา

การงดเว้นการกระทำที่ไร้สาระ                                 กาย

นี้คือ หน้าที่ ของสมณผู้ประพฤติพรหมจรรย์

สติ เตสัง นิวารณัง

ปญฺญา เยเต ปิถิยฺยเร

กั้นกระแสตัณหาทั้งหลายได้ด้วยสติ

ละกระแสตัณหาทั้งหลายได้ด้วยปัญญา

นัตถิ ฌานัง อปัญญัสสะ

นัตถิ ปัญญา อฌายิโน

ฌาณย่อมไม่มีแก่ผู้ไร้ปัญญา

ปัญญาก็ย่อมไม่มีแก่ผู้ไร้ฌาณ

ธรรม ย่อมมีคุณค่าเหนือราคาซื้อขาย

พิมพ์แจกเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

ให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

เราปฏิบัติในพรหมจรรย์นี้

มิใช่เพียงเพื่อ          หวังหลอกลวงผู้คน

มิใช่เพียงเพื่อ          หวังเรียกร้องให้ผู้คนมานับถือ

มิใช่เพียงเพื่อ          หวังประโยชน์แก่ลาภ

มิใช่เพียงเพื่อ          หวังประโยชน์แก่สักการะ

มิใช่เพียงเพื่อ          หวังประโยชน์แก่ชื่อเสียง

ที่แท้เพียงเพื่อ        ความสำรวมในบาปอกุศล

เพื่อ         ความคลายกำหนัด

เพื่อ         ความคลายความยินดี

เพื่อ         ความสำรอกกิเลส

เพื่อ         ความสิ้นแห่งตัณหา

เพื่อ         ความสลัดคืนอุปาทาน

เพื่อ         ความดับสูญทุกข์และโทมนัส

เพื่อ         ความเป็นผู้อยู่เย็นในโลก

 

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

ศาสนานี้

มิใช่มี ลาภสักการะ เป็นสาระ  เป็นแก่นสาร

เป็นอนิสงค์

มิใช่มี ความบริบูรณ์แห่งชื่อเสียง เป็นสาระ  เป็นแก่นสาร เป็นอนิสงค์

มิใช่มี ความบริบูรณ์แห่งศีล เป็นสาระ  เป็นแก่นสาร เป็นอนิสงค์

มิใช่มี ความบริบูรณ์แห่งสมาธิ เป็นสาระ  เป็นแก่นสาร เป็นอนิสงค์

มิใช่มี ความบริบูรณ์แห่งปัญญา เป็นสาระ  เป็นแก่นสาร เป็นอนิสงค์

แต่สภาพความหลุดพ้นแห่งจิตจากอุปปาทาน

อันใด อันไม่กลับกำเริบ ไปในห้วงแห่งกิเลสตัณหาทั้งหลายได้อีก สภาพแห่งจิตนั้นแหละ เป็นสาระ เป็นแก่นสาร

เป็นอนิสงค์  แห่งการปฏิบัติ อันเป็นที่สุด ในศาสนานี้           

 

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

ท่านทั้งหลายรู้ธรรมเหล่าใดว่า

  ธรรมเหล่านั้น เป็นไปเพื่อความกำหนัดยินดี หาเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัดยินดีไม่

  ธรรมเหล่านั้น เป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์ หาเป็นไปเพื่อ ความคลายความประกอบทุกข์ไม่

  ธรรมเหล่านั้น เป็นไปเพื่อสร้างสมกิเลส หาเป็นไปเพื่อความคลายความสร้างสมกิเลสไม่

  ธรรมเหล่านั้น เป็นไปเพื่อความปรารถนาใหญ่ หาเป็นไเพื่อ ความเป็นผู้มีความปรารถนาน้อยไม่

  ธรรมเหล่านั้น เป็นไปเพื่อความปรารถนามาก หาเป็นไปเพื่อ ความเป็นผู้มีความสันโดษมักน้อยไม่

  ธรรมเหล่านั้น เป็นไปเพื่อคลุกคลีด้วยหมู่คณะ หาเป็นไปเพื่อความเป็นผู้ปรารภวิเวกไม่

  ธรรมเหล่านั้น เป็นไปเพื่อความเป็นผู้เลี้ยงยาก หาเป็นไปเพื่อ ความเป็นผู้มีความเลี้ยงง่ายไม่

  ท่านพึงรู้ได้ว่า ธรรมเหล่านี้ มิใช่ธรรม มิใช่วินัย มิใช่คำสอนแห่งศาสนานี้

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

  เรามิได้กล่าวว่า บุคคลจะเป็นสมณะ เป็นภิกษุ ได้ด้วยการนุ่งห่มผ้าบังสกุลจีวร ก็หาไม่

  เรามิได้กล่าวว่า บุคคลจะเป็นสมณะ เป็นภิกษุ ได้ด้วยการ

ครองผ้าแค่ไตรจีวร ก็หาไม่

  เรามิได้กล่าวว่า บุคคลจะเป็นสมณะ เป็นภิกษุ ได้ด้วยการ

ถือบิณฑบาตรแห่งกันต์ ก็หาไม่

  เรามิได้กล่าวว่า บุคคลจะเป็นสมณะ เป็นภิกษุ ได้ด้วยการ

ถือเอกาสนะฉันมื้อเดียว ก็หาไม่

  เรามิได้กล่าวว่า บุคคลจะเป็นสมณะ เป็นภิกษุ ได้ด้วยการ

ถือรุกขมูลวัตรอยู่โคนไม้เป็นนิจ ก็หาไม่

  เรามิได้กล่าวว่า บุคคลจะเป็นสมณะ เป็นภิกษุ ได้ด้วยการ

ถืออรัญญิกขวัตรอยู่ป่าเป็นนิจ ก็หาไม่

  เรามิได้กล่าวว่า บุคคลจะเป็นสมณะ เป็นภิกษุ ได้ด้วยการ

ถือเนสัชชิกขัตรนั่งเป็นนิจ ก็หาไม่

  แต่เราได้กล่าวว่า บุคคลผู้ใดสามารถครอบงำกิเลส บาปธรรมเสียได้ด้วยข้อวัตรเหล่านี้ ผู้นั้นแหละคือสมณะคือภิกษุในศาสนานี้

คำนำ

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยคุณความดี โลกนี้ก็จะมีแต่ความสุข

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยความเห็นแก่ตัว โลกนี้ก็จะมีแต่ความระทมทุกข์

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยความเห็นแก่ได้ โลกนี้ก็จะมีแต่ความแก่งแย่ง

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยความละโมภ โลกนี้ก็จะมีแต่ความแสวงหา

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยความเจ้าเล่ห์ โลกนี้ก็จะมีแต่ความเสแสร้งฉ้อฉล

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยความริษยา โลกนี้ก็จะมีแต่เสียงนินทา เสียดสี

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยความมีทิฏฐิ โลกนี้ก็จะมีแต่ความแตกแยก

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยความโทสะ โลกนี้ก็จะมีแต่การฆ่าฟัน

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยความอาฆาต โลกนี้ก็จะมีแต่ความพินาศบรรลัย

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยความไม่จริงใจ โลกนี้ก็จะมีแต่ความล่อลวง

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยความเป็นเจ้า โลกนี้ก็จะมีแต่ความกดขี่

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยความอวดดี โลกนี้ก็จะมีแต่ความเย่อหยิ่ง

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยความโอ้อวด โลกนี้ก็จะมีแต่ความมีมายา

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยความแสวงหา โลกนี้ก็จะมีแต่ความเบียดเบียน

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยความเมตตา โลกนี้ก็จะมีแต่ความน่าอภิรมย์

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยกรุณาปราณี โลกนี้ก็จะมีแต่ความร่มเย็น

  ถ้าเราเอาความรู้มาพร้อมด้วยธรรม โลกนี้ก็จะมีแต่สันติสุข

จาก สมณะธรรมทาส

 

 

คำปรารภ

  โลกียธรรมทั้งมวลนั้นล้วนเป็นมายา อาตมาจึงแสวงหาโลกุตรธรรม

  ความสุขและทุกข์แห่งโลกล้วนเป็นมายา อาตมาจึงไม่กำหนดหมายคุณค่าของมัน

  การเข้าครอบครองโลกียทรัพย์ทั้งปวงเป็นเรื่องอวิชชา อาตมาจึงละทิ้งมันไปทั้งหมด

  ชื่อเสียงเกียรติยศเป็นเรื่องของมายา อาตมาจึงไม่คิดแสวงหามัน

  ถ้อยคำสรรเสริญนินทาเป็นเพียงมายา อาตมาจึงไม่ใส่ใจต่อมัน

  โลกธรรมทั้งปวงเป็นเพียงมายาลวงใจ อาตมาจึงไม่หวั่นไหวต่อมัน

  ความรัก ความชัง ย่อมเกิดขึ้นด้วยอวัชชา อาตมาจึงต้องมีปัญญารู้เท่ามัน

  กิเลสนิวรณ์เป็นเพียงมายาลวงใจ อาตมาจึงฝันไฝ่หาตบะธรรมเข้าดับมัน

  ราคะตัณหานั้นเกิดขึ้นด้วยอวิชชา อาตมาจึงฝึกปัญญาอยู่เหนือมัน

  ปรากฎการณ์ภายนอกทั้งปวงล้วนเป็นมายา อาตมาจึงเฝ้าจดจ่อต่อธรรมชาติภายใน

  ในกระแสของความคิดล้วนเป็นไปด้วยอวิชชา อาตมาจึงแสวงหาปัญญาญาณเพื่อดับมัน

  คำสอนแห่งสมมุติสัจจะพูดถึงสิ่งอันเป็นมายา อาตมาจึงเฝ้าศึกษาปรมัติธรรมที่เป็นจริง

  หนังสือที่เขียนด้วยหมึกนั้นเป็นได้แค่ตำรา อาตมาจึงเฝ้าเพ่งพิศเฉพาะคำสอนภายใน

  สังขตธรรมทั้งมวลล้วนเกิดขึ้นด้วยสภาพมายา อาตมาจึงเฝ้าเพียรศึกษาธรรมชาติของมัน

  วัฏสงสารทั้งมวลล้วนดำเนินไปด้วยอวิชชา อาตมาจึงฝึกสติปัญญาหยุดยั้งมัน

  สภาพจิตของปุถุชนล้วนปรุงแต่งด้วยอวิชชา อาตมาจึงฝึกปัญญาญาณให้รู้เท่าทันมัน

  สภาวะแห่งความเกิดความตายยังตกอยู่ในมายา อาตมาจึงใผ่แสวงหาอยู่แต่พระนิพพาน

จาก สมณะธรรมทาส

 

 

บอกให้จำ

  อัตมาคิดว่าไม่ใช่สิ่งสำคัญดอกในการที่ผู้คนจะพากันมาใส่ใจในตัวของอัตมา ไม่ว่าในทางใด แต่การที่เราท่านทั้งหลาย ได้เรือนกายอันมีค่าของความเป็นมนุษย์และเกิดมาในกาลสมัยและสถานที่ซึ่งพระพุทธศาสนาประดิษฐานอยู่ นับได้ว่าเป็นความโง่เขลามากทีเดียวถ้าท่านทั้งหลายไม่พากันปฏิบัติธรรม มันเป็นความหลงโง่งมอยู่เพียงใดที่ท่านยังคงเต็มไปด้วยความประมาณมัวเมาเฝ้าประกอบแต่อกุศลธรรมอันก่อให้เกิดวิบากผลที่เป็นอันตราย ทั้งๆที่พระสัจธรรม อันบริสุทธ์แผ่ซ่านปกคลุมอยู่รอบกายของท่านทั้งหลาย

  มันเป็นความหลงโง่งมอยู่เพียงใด ที่ท่านทั้งหลายปล่อยให้วันเวลาในชีวิตล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ไร้ความหมายทั้งๆที่เรือนกายอันประเสริฐมีค่าของมนุษย์นี้เป็นของกำนัลที่ได้มาโดยแสนยาก

  มันเป็นเรื่องน่าขบขันสักเพียงไร ที่ท่านทั้งหลายยังคงหลงพำนักอยู่ในอาณาจักรที่เต็มไปด้วยการจองจำกักขังในหน้าที่การงานอันไม่มีวันจบสิ้นและหลงไหลที่จะมีชีวิตผูกพันอยู่กับมัน

  มันน่าขบขันสักเพียงไรที่ท่านยังคงมัวแต่สาละวนทะเลาะเบาะแว้งอยู่กับผู้คนและญาติมิตรซึ่งที่แท้จริงแล้วพวกเขาเหล่านั้นเป็นเพียงแขกผู้แวะเข้ามาเยี่ยมเยือนในกระแสชีวิตเท่านั้น

  มันเป็นความไร้สติสักเพียงไร ที่ท่านทั้งหลายมัวแต่สยมจมอยู่กับถ้อยคำสรรเสริญเยินยอซึ่งที่แท้จริงแล้วเสียงเหล่านั้นเป็นเสมือนเสียงที่ว่างเปล่าไร้ความหมายในความฝัน

  มันเป็นความไร้สติเพียงไร ที่ท่านทั้งหลายพากันละเลยกับชีวิตของตนเองโดยเอาแต่ต่อสู้กับศัตรูภายนอก ซึ่งโดยที่แท้จริงแล้ว พวกเขาเหล่านั้นมีสภาพที่บอบบางเสมือนฟองน้ำที่แตกสลายง่าย

  มันเป็นความโง่เขาอยู่สักเพียงไร ที่ท่านทั้งหลายผู้กำลังเดินทางไปสู่ความตายอยู่แท้ๆยังเที่ยงแสวงหาเครื่องทรมานตนด้วยความวิตกกังวลในเรื่องครอบครัว ซึ่งที่แท้จริงเป็นเพียงสิ่งผูกพันร้อยรัดให้ติดแน่นอยู่ในคฤหาสถ์ของมายา

  มันเป็นความหลงโง่งมสักปานใด ที่ท่านทั้งหลายยังคงหลงยึดมั่นตระหนี่ในทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งที่แท้มันเป็นเพียงแค่หนี้ที่ท่านกู้ยืมเขามา

  มันเป็นความหลงงมโง่อยู่ปานใด ที่ท่านทั้งหลายมัวแต่หลงพากเพียรประดับประดาตกแต่งร่างกายของตน ซึ่งที่แท้จริงแล้วมันเป็นได้แค่เพียงภาชนะที่เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลต่างๆที่รอวันเวลาบูดเน่าเท่านั้น

  มันเป็นความหลงโง่งมอยู่สักเพียงไร ที่ท่านทั้งหลายพากันครุ่นคิดจนประสาทตึงเครียด เพื่อความร่ำรวยมั่งมีด้วยวัตถุปัจจัย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมันเป็นเพียงอำนาจกิเลสที่ขึ้นมาครองใจเท่านั้น

  มันเป็นเรื่องหลงโง่งมงายสักปานใด ที่ท่านทั้งหลายมัวเมาแสวงหายศศักดิ์ตำแหน่งเข้ามากักขังตัวเองซึ่งที่แท้จริงแล้วมันเป็นเสมือนเครื่องจองจำให้ยิ่งติดแน่นอยู่ในสังสารวัฏมากขึ้น

  มันเป็นเรื่องหลงโง่งมงายสักปานใด ที่ท่านทั้งหลายหลงนับถือในลัทธิพิธีกรรมแห่งไสยศาสตร์เวทมนต์ คาถา ซึ่งที่แท้จริงแล้วมันเป็นเพียงเรื่องของอวิชชาของบุคคลที่ไม่รู้แจ้งธรรมเท่านั้น

  มันเป็นความหลงงมงายสักปานใด ที่ท่านทั้งหลายพากันหลงศึกษาตำรา คำภีร์ เพื่อที่จะเป็นปราชญ์เมธี จนลืม ทอดทิ้งน้ำอมฤตธรรม แห่งคำสอนเรื่องภายใน

  ในบรรดาปุถุชนผู้มือบอดด้วยอวิชชาทั้งหลาย ผู้มีปัญญาสำนึกตน ย่อมประพฤติธรรมเช่นเดียวกับอัตมา

 

 

 

 

 

ทำให้ดู

  โภคทรัพย์ โลกียสุข ความโอ่อ่าทัดฐาน นี้คือเครื่องร้อยรัด แก่สมณะผู้บฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้นอัตมาจึงต้องสลัดคืนมัน

  ตำแหน่งหน้าที่ ยศฐาบรรดาศักดิ์ ชื่อเสียงเกียรติคุณ นี้คือเหยื่อล่อ แก่สมณะ ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้น อัตมาจึงต้องสละทิ้งมัน

  ดินแดนบ้านเกิด พรรคพวกเพื่อนพ้อง วงศาคณาญาติ นี้คือเครื่องกังวลแก่สมณะ ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้นอัตมาจึงต้องเหินห่างมัน

  การเป็นเจ้าสำนัก การมีโยมอุปฐาก การมีสานุศิษย์ นี้คืออุปสรรค แก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้น อัตมาจึงจำเป็นต้องไม่ผูกพันมัน

  ระเบียบปฏิบัติ ลัทธิพิธีกรรม ตำหรับตำรา นี้คือเครื่องเหนี่ยวรั้ง แก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้นอัตมาจึงจำเป็นต้องถ่ายถอนมัน

  ตรรกศาสตร์ โหราศาสตร์ ปราชญ์เมธี นี้คืออันตราย แก่สมณะ ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้น อัตมาจึงจำเป็นต้องไม่นำพามัน

  ไสยศาสตร์ วิทยากล เวทมนต์คาถา นี้คือสิ่งชั่วร้าย แก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้นอัตมาจึงจำเป็นต้องไม่ศึกษามัน

  หมู่คณะ ความตลกคนอง  ความบันเทิงละเล่น นี้คือสิ่งรบกวน แก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้นอัตมาจึงจำเป็นต้องไม่ข้องแวะมัน

  ความเกียจคร้าน ความประมาท ความง่วงหาว นี้คือจอมโจร แก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้น อัตมาจึงจำเป็นต้องคอยระวังมัน

  ความทุกข์ยาก ความขลาดกลัว ความเบื่อหน่าย นี้คือข้าศึกแก่สมณะผู้บฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้น อัตมาจึงจำเป็นต้องคอยสู้รบกับมัน

  ผู้คงแก่เรียน ศิษย์ที่ขาดศรัทธา ญาติธรรมไม่สำรวม นี้คือสิ่งน่าเบื่อหน่ายแก่สมณะผู้ประพฤติบำเพ็ญ ดังนั้น อัตมาจึงจำเป็นต้องคอยหนีห่างมัน

  ความไม่จริงใจ ความเจ้าเล่ห์ ความเสแสร้ง นี้คือศัตรูแก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้น อัตมาจึงจำเป็นต้องฆ่ามัน

 

 

 

  สัจธรรม ความพากเพียร ความสันโดษ นี้คือเพื่อนที่แสนดีแก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้น อัตมาจึงจำเป็นต้องคบหามัน

  ความอดทน บุญวาสนา บารมีธรรม นี้คือสิ่งเกื้อกูลแก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้น อัตมาจึงจำเป็นต้องสร้างสมมัน

  ความอิสระเสรี ธรรมชาติ ความสงบ นี้คือที่พึ่งแก่สมณะ ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้น อัตมาจึงจำเป็นต้องพึ่งพามัน

  วิสุทธิบุคคล บรมธรรม คำชี้แนะ นี้คือประทีปแก่สมณะ ผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้น อัตมาจึงจำเป็นต้องแสวงหามัน

  อิทธิบาทสี่ สติปัฏฐานสี่ โพชฌงค์เจ็ด นี้คือทางปฏิบัติแก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้น อัตมาจึงจำเป็นต้องศึกษามัน

  ความสำรวม ความมีสติ จิตที่ตั้งมั่น นี้คือทางดำเนิน แก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้นอัตมาจึงจำเป็นต้องคอยฝึกฝนมัน

  การขจัดความยากที่หลั่งไหล การหยุดคำพูดที่เปล่าดาย การงดเว้นการกระทำไร้สาระ นี้คือหน้าที่แก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้นอัตมาจึงจำเป็นต้องกระทำมัน

  การระงับความคิด ความผ่อนคลาย ความปล่อยว่าง นี้คือคุณสมบัติแก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้นอัตมาจึงจำเป็นต้องสมาทานมัน

  ความเคร่งที่ไม่เครียด การเร่งที่ไม่รีบ การพักในความเพียร นี้คือสัญลักษณ์ แก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้นอัตมาจึงจำเป็นต้องสร้างสรรค์มัน

  การสิ้นกิเลส การสิ้นตัญหา การสิ้นอุปาทาน นี้คือเป้าหมาย แก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้น อัตฒาจึงจำเป็นต้องเข้าให้ถึงมัน

  เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ พุทธสภาวะ นี้คือความสำเร็จ แก่สมณะผู้ปฏิบัติบำเพ็ญ ดังนั้น อัตมาจึงจำเป็นต้องหวังครอบครองมัน

 

 

 

 

 

 

 

 

อยู่ให้เห็น

  ความมั่งคั่งย่อมไร้ประโยชน์ถ้ายังมีความทะยานอยาก วงศาคณาญาติก็ย่อมช่วยเหลืออะไรไม่ได้เมื่อวันตายมาถึง พระธรรมก็ย่อมช่วยไครไม่ได้ถ้าเขายังอาลัยอยู่ในโลกียสุข พระนิพพานก็ไร้ความหมายถ้าไม่มีไครเดินทางได้ตรง

  โบสถ์วิหารอันโอ่อ่าวิจิตรพิศดารนั้นมันไม่ได้ต่างอะไรกับโรงไม้ที่ใช้เก็บบรรดาเศษไม้ลอยน้ำ ถึงแม้ว่ามันสร้างความสะดวกสะบายให้กับชีวิตสมณะก็ตาม มันเป็นเพียงกับดักอันล่อลวงของกิเลสตัณหาอยู่นั้นเอง ซึ่งมันยิ่งทำให้ชีวิตของสมณะยิ่งตกจมลงสู่ก้นบึ้งของโลกีย์วิสัยยิ่งขึ้น อัตมาจึงไม่ปรารถนาที่จะอาศัยอยู่ในสถานที่ประเภทนั้น

  อัตมาต้องการแต่ความอิสระเสรีของดวงจิต จึงจำเป็นต้องหนีห่างจากการนินทาว่าร้ายและเสียงพร่ำบ่นทั้งมวล เพราะมันเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายสำหรับอัตมา

  เมื่อโทสะจริตถูกปลุกเร้าขึ้นมาครอบงำผู้คน โภคทรัพย์และการครอบครองก็ไร้ประโยชน์ อัตมาย่อมไม่ใส่ใจกับการสะสมวัตถุปัจจัยเพื่อความมั่งคั่ง

  เมื่อความพากเพียรอุตสาหะได้งอกงามขึ้นในภายใน อัตมาย่อมไม่ต้องการผู้มาเยี่ยมเยือน เพราะล้วนเป็นไปเพื่อความรบกวนในการปฏิบัติ

 

  เมื่อคำสอนอันลึกซึ้งถูกนำไปปฏิบัติจริงๆ ปริยัติธรรมทั้งปวงก็หมดความหมาย ความรอบรู้ทางปริยัติที่ไม่มีการปฏิบัตินั้น ย่อมเป็นเพียงการปลุกเร้าให้เยื่อหยิ่งลำพองตนขึ้นในภายใน ด้วยเหตุนี้ อัตมาจึงไม่นิยมการศึกษาด้วยตำราใดๆ

  เมื่อญาติโยมมองดูอัตมาจากภายนอก จึงไม่อาจสามารถวองเห็นถึงการศึกษาที่ต่อเนื่องในดวงจิตของอัตมาได้ จึงพากันกล่าวร้ายอัตมา

  ในวิหารธรรมอันเป็นอสังขติธรรมไร้ปัจจัยปรุงแต่ง อัตมาได้ขมักเขม้นก่อสร้างกำแพงด้วยสัมมาญาณอยู่เสมอ อัตมาจึงไม่มีเวลาที่จะก่อสร้างโบสถ์วิหารที่เป็นอิฐหินดินปูน

  ในดินแดนแห่งอนัตตาธรรมอันไร้ตัวตน อัตมาเฝ้ารบปิศาจร้าย แห่งตัณหาราคะอันร่านทุรน อัตมาจึงไม่มีเวลาที่จะมาสู้รบกับผู้คนที่แสดงตนเป็นศัตรูกับอัตมาในภายนอก

  ในเอกสภาวะแห่งความไม่แบ่งแยกสิ่งใด อัตมาได้เฝ้าขจัดผีร้ายแห่งความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตน อัตมาจึงไม่มีเวลาที่จะมาบริกรรมคุณไสยขจัดภูติผีสนองความต้องการญาติโยม

  ในมโนขันธ์อันดับสนิทนั้น อัตมาเฝ้าละลายกิเลสนิวรณ์ลงในน้ำอมฤตธรรม อัตมาจึงไม่มีเวลาที่จะมานั่งทำน้ำพระพุทธมนต์

  ในสุญญสภาวะอันว่างเปล่าเดียวดาย อัตมาได้นั่งเฝ้าปลุกเร้าสติให้สมบูรณ์อยู่เสมอ อัตมาจึงไม่มีเวลามานั่งเพื่อพูดคุยในสิ่งไร้สาระ

  ในคลังสมบัติในสภาพยิ่งกว่าสุขนั้น อัตมาได้สะสมอริยทรัพย์ภายในเอาไว้ อัตมาจึงไม่มีเวลาสำหรับเที่ยวแสวงหาโลกียทรัพย์ในโลกภายนอก

  ในท้องถ้ำอันสะอาด สงบในภายใน อัตมาได้เฝ้าขุดค้นแสวงหาความสิ้นสุดการเกิดดับของดวงจิต อัตมาจึงไม่มีเวลาออกเลาะแสวงหาวัตถุกาม

  บนสรีระอันประกอบด้วยเลือด เนื้อ และกระดูก อัตมาได้พากพียรพยายามก่อสร้างสถูปเจดีย์แห่งความเป็นวิสุทธิบุคคลขึ้นไว้ อัตมาจึงไม่มีเวลาที่จะมาก่อสร้างสถูปเจดีย์อิฐหินดินปูน

 ณ ศูนย์กลางแห่งดวงใจของอัตมา ได้จุดประทีปธรรมอันสว่างไสว แห่งการรู้แจ้งธรรมขึ้นไว้ อัตมาจึงไม่มีเวลาที่จะมาจุดธูปเทียนเพื่อทำมาบวงสรวงเทพเจ้าใดๆอีก

  บนผนังแห่งพฤติภาพอันขาวสะอาดของดวงจิต อัตมาได้พากพียรจารึกปรากฎการแห่งความดับของกิเลสตัณหาอุปาทานลงได้ อัตมาจึงไม่มีเวลาที่จะเขียนภาพจิตรกรรมบนผิวโลก

  ในห้องปริยัตแห่งพุทธภาวะอันบริษุทธิ์สงบเย็น อัตมาได้เฝ้าเพียรศึกษา สภาวะการเกิดดับของราคะตัณหาในดวงจิตอยู่ตลอดเวลา อัตมาย่อมไม่มีเวลาพอที่จะมานั่งศึกษากฎหมาย ระเบียบ ของคณะเถระสงฆ์

  บนยอดเขาอันมีแต่ธรรมชาติและความวิเวกสงบเย็น อัตมาได้เฝ้าบฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์พระสัมมา อัตมาจึงไม่มีเวลามานั่งปกครองสานุศิษย์

  เมื่ออัตมาดำเนินไปบนเส้นทางแห่งพุทธรรมคำสอน อัตมาย่อมอิสระเสรีโดยมิต้องพักหรือเพียรแต่ใดๆ ประสบการณ์แห่งสภาพที่ยิ่งกว่าสุข ความสว่างไสวในภายใน และการขจัดความคิดที่หลั่งใหล ซึ่งเกิดขึ้นโดยการรู้แจ้งธรรม ย่อมทำให้เครื่องร้อยรัดและโมหะหย่อนคลายลง อัตมาปฏิบัติธรรมผ่านดวงใจ มิใช่ด้วยปาก จึงสามารถระงับความยุ่งยากของราคะตัณหาทั้งมวลได้  ไม่มีความลังเลสงสัยใดๆอีก

  อิสระจากความหวังและความหวั่นไหว ความระทมทุกข์ทั้งมวลได้ถูกดูดกลืนสูญสลายไปในอาณาวัฏรของธรรมชาติ มันสงบ มันเบาสบาย มันน่าชื่นชม มันน่าปีติเพียงใด

 

 

 

 

เย็นให้สัมผัส

  ประดุจดังหลุดพ้นออกจากหลุมพรางอันเป็นกับดัก ซึ่งเป็นสถานที่ที่จะนำภับวิบัติมาให้

  นี้คือความผาสุกสำราญ เช่นเดียวกับการไม่ครอบครองบ้านและอารามว่าเป็นของตน ประดุจอาชาไนยอันชาญฉลาด ที่สามารถปลดเปลื้องตนเองออกจากบังเหียนเสียได้

  นี้คือความผาสุขสำราญ อันเกิดจากการขจัดความรักและความชังให้สูญสิ้นสลายไปจากดวงจิต ประดุจดั่งคชสารใหญ่ที่พักกายหลับนอนใต้ต้นไม้โดยปราศจากความกังวลใดๆ

  นี้คือความผาสุกสำราญเช่นเดียวกับการไม่หวั่นไหวต่อการขึ้นลงของโลกธรรมในชีวิต ประดุจดังพยัคร้ายที่ปราดเปรียวแข็งแรงได้มีโอกาสเคลื่อนไหววิ่งเล่นอยู่อย่างอิสระเสรี

  นี้คือความผาสุขสำราญ เช่นเดียวกับการมีอิสระเสรีปลอดโปร่งไม่คลุกคลีด้วยหมู่ชน ประดุจพญาอินทรีผู้ทรนงได้กางปีกถลาร่อนอย่างเบาสบายในห้วงเวหา

  นี้คือความผาสุขสำราญที่ศรัทธาได้หยั่งรากอย่างมั่นคงเพราะได้รับผลจากปฏิเวสธรรม ประดุจดั่งพญาเหยี่ยมที่แกล้วกล้า ผงาดล่องลอยตนอยู่บนฟากฟ้า

  นี้คือความผาสุขสำราญที่เกิดจากการมีสติมั่นคง เพราะปราศจากกิเลสนิวรณ์ห่อหุ้มจิตใจ ประดุจดั่งกระต่ายน้อยกระโดดข้ามพ้นจากต้นไม้ใหญ่อันมีหนามแหลมคม

  นี้คือความผาสุขสำราญจากการที่จิตได้บรรลุถึงความดับแห่งโลกียารมณ์ ประดุจดั่งพญาราชสีห์ผู้ห้าวหาญได้ทะยานตนขึ้นหลับนอนชง่านผาอันสูงใหญ่

  นี้คือความผาสุขสำราญเช่นเดียวกับการที่จิตได้สถิตอยู่ในสุญญตวิหารธรรม ประดุจดั่งขุนเขาพระสุเมรที่ตั้งตระหง่านอยู่อย่างมั่นคง โดยไม่หวั่นไหวต่อฤดูกาล

  นี้คือความผาสุขสำราญเช่นเดียวกับการดำรงอยู่ในอัปปาณาสมาธิอันสงัดจากอกุศลบาปธรรม ประดุจดั่งมหาโพธิ์ใหญ่ ที่ยืนสบัดใบอย่างอาจหาญอยู่บนภูผาสูง โดยไม่หวั่นไหวต่อพายุฝน

  นี้คือความผาสุขสำราญจากการที่จิตได้เข้าถึงความเห็นแจ้งอนัตตาธรรม ประดุจดั่งสายน้ำอันกว้างใหญ่ ที่กำลังไหลรินอย่างอิสระเสรีสู่ห้วงมหาสมุทธ

  นี่คือความผาสุขสำราญจากการที่จิตรบรรลุถึงโครตภูญาณอันไม่กลับมาสู่โลกีย์วิสัยอีก ประดุจดั่งก้อนศิลาใหญ่ ที่จมตัวลงสู่ท้องมหานที ที่ไม่สามารถกลับคืนได้อีก

  นี้คือความผาสุขสำราญเช่นเดียวกับการที่ความระทมทุกข์ได้สุญสลายไปในอาณาจักรธรรมธาตุ ประดุขดั่งปุยเมฆขาวที่ล่องลอยตัวไปในฟากฟ้าอันไร้สิ่งขัดขวางใดๆ

  นี้คือความผาสุขสำราญที่เกิดจากการปฏิบัติที่ก้าวเคลื่อนไปบนเส้นทางมัชฌิมาปฏิปทา ประดุจดั่งดวงสุริยาที่ทอแสงเจิดจ้ากลบเกลื่อนรัศมีอื่นใดจนหมดสิ้น

  นี้คือความผาสุขสำราญจากการที่อสังขตธรรมปรากฎแจ่มแจ้งออกมาจากดวงจิต ประดุจดั่งท้องนภา อันกว้างใหญ่ที่ไม่สามารถประมาณได้ด้วยข้ออุปมาใดๆ

  นี้คือความผาสุขสำราญอันเกิดจากการปลดปล่อยจิตวัญญาณของตนให้เป็นอิสระออกจากอุปาทานในเบญจขันธ์ อันเป็นสภาพที่ยิ่งกว่าสุข

  อัตมาขอมอบความผาสุขสำราญอันเป็นของกำนัลจากธรรมชาติแด่ท่านทั้งหลาย

จาก สมณะธรรมทาส

 

 

 

 

ปริยัตสูงสุด

เมื่อยังไม่เข้าใจสมมุติสัจจะ

ความเข้าใจในปรมัตธรรมย่อมไม่มี

เมื่อมีขอบเขตจำกัดของคำพูดอธิบาย

ความเข้าใจความหมายย่อมมีขอบเขตอันจำกัดด้วย

การยอมรับหรือปฏิเสธนั้น มิใช่ความคิดที่ถูกต้อง

ความดับสนิทนั้น ย่อมไม่ใช่สมาธิ

สายธารของความคิดที่หลั่งไหลนั้น ไม่ใช่การบำเพ็ญวิปัสนา

ถ้ายังนับจำนวนได้ นั่นย่อมไม่ใช่หมู่ดาว

ถ้ายังหวั่นไหวโยกโคลงได้ ไม่มีไครเรียกมันว่าภูเขา

ถ้ายังล้นหรือเหือดแห้งได้ มันย่อมไม่ใช่มหาสมุทธ

ถ้ายังจับต้องมันได้ มันย่อมไม่ใช่สายรุ้ง

ถ้ายังมีทิศทางบอกได้ นั้นมิใช่ปรีชาญาณ

ถ้ายังพูดอธิบายได้ สิ่งนั้นก็มิใช่พระนิพพาน

ถ้ายังพูดเรื่องเกิดตาย สิ่งนั้นก็ไม่ใช่พระพุทธศาสนา

 

  ในปรมัตสัจจะ ไม่มีสิ่งใดที่จะต้องเห็น ปราศจากการกำหนดหมายทั้งปวง ในดวงจิต พระสัจจะธรรมจักสาดส่องขึ้นมาเอง

  อสังขตธรรม อันไร้ปัจจัยปรุงแต่ง ย่อมไม่สามารถธิบายได้ด้วยข้ออุปมาใดๆ

  การเข้าถึงพระนิพพานนั้น เป็นแค่โวหารปริยัต เพราะแท้ที่จริงแล้ว ไม่มีสิ่งใดที่จะเข้าถึง เพราะจิตเดิมแท้นั้นย่อมประภัสสรสว่างไสวว่างเปล่าจากอัตตาตัวตนโดยสิ้นเชิง

ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของทุกข์ทรมานแห่งสังสารวัฎ

ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความน่าอัศจรรย์ของพระนิพพาน

  นี้คือพุทธภาวะจิตเดิมอันเป็นอริยทรัพย์ที่แสนประเสริฐ ที่เป็นสภาพปัจจัตตังรู้แจ้งเฉพาะตน

  ด้วยการที่บุคคลไม่เข้าใจถึงอวิชชาที่ห่อหุ้มดวงจิตเดิมของตน จึงทำให้ต้องกระเสือกกระสนไปในสังสารวัฏ อันเต็มไปด้วยความทารุณของกระแสแห่งเพลิงกิเลสราคะตัณหา

 

 

 

 

  ด้วยเหตุนี้เอง บุคคลผู้ที่ตระหนักชัดได้ถึงธรรมชาติแท้จริงของดวงจิตเดิมที่ปราศจากอวิชชาฉายบดบัง เขาจึงได้เข้าถึงความเป็นวิสุทธิบุคคลหรือผู้บรรลุธรรม

  เขาย่อมหยังรู้ได้ว่า ธรรมชาติแห่งดวงจิต และปรีชาญาณ คือสิ่งสิ่งเดียวกัน เขาย่อมไม่แสวงหาพระนิพพานในที่อื่นใดอีก เพราะเขาย่อมได้รู้ชัดแล้วว่า นิพพานย่อมดำรงค์อยู่ในสังสารวัฎนี้เอง

  สัจจะสภาวะธรรมแห่งสังสารวัฎย่อมมีสภาพแห่งปรมังสุญญัง คือว่างเปล่าจากอัตตาตัวตนโดยสิ้นเชิง สรรพสิ่งที่สัมผัสได้นั้นล้วนเป็นเพียงมายา

  นี้คือคำสอนสูงสุดที่บุคคลสามารถปฏิบัติถึงได้

  นักปริยัติธรรม ผู้ไม่ศรัทธาในคำสอนชนิดนี้ เขาย่อมตกอยู่ในอุ้งหัตถ์ของพญามารร้าย

  นักบวชที่ทอดทิ้งโอกาสในการปฏิบัติธรรมเพื่อการบรรลุถึงพุทธภาวะเขาย่อมไม่มีโอกาสอื่นใดเหลืออีกในอัตภาพร่างกายนี้...

 

จาก สมณะธรรมทาส  

 

วิสุทธิธรรม

ในบรรดาที่พึ่งทั้งหลายนั้น พุทธ ย่อมเป็นเลิศ

ในบรรดาหมู่มิตรทั้งมวล ความซื่อตรงเป็นยอดกัลยาณมิตร

ในบรรดาผีร้ายนาๆชนิด ความเย่อหยิ่งลำพองตนเป็นยอดผี

ในบรรดาความบกพร่องทั้งมวล การถูกดูหมิ่นนับว่าต่ำทราม

  บุคคลผู้ซึ่งมิได้เพียรพยายามขจัดบาปกรรมของตนด้วยหิริโอตัปปะด้วยธรรมวินัยและด้วยวิปัสนาอันสูงสุด ย่อมถูกพันธนาการอยู่ในสังสารวัฎ

  บุคคลผู้ยังไม่สามารถละสังโยชน์ทั้งสิบได้ ย่อมเต็มไปด้วยทุกข์ทรมานตลอดเส้นทางในชีวิต

  บุคคลผู้มิได้พากเพียรเพื่อเข้าถึงสูญตธรรมและความจางคลายจากความยึดถือทั้งปวง เขาย่อมไม่อาจบรรลุต่อพระนิพพานได้เลย

  บุคคลผู้ที่หยั่งรู้ว่าโลกและสุญตธรรมคือสิ่งเดียวกัน เขาได้บรรลุถึงอาณาจักรแห่งความเห็นแจ้งตามความเป็นจริงในธรรมชาติแล้ว

  บุคคลผู้ซึ่งสามารถเข้าใจได้ว่า ความฝันกับชีวิตจริงไม่แตกต่างอะไรกัน เขาได้เข้าใจถึงแนวทางอันถูกต้องในการปฏิบัติบำเพ็ญเพียร

  บุคคลผู้ซึ่งตระหนักชัดถึงเอกสภาวะเดียวของความดับสนิทแห่งทุกข์และสุญตธรรม เขาได้เข้าถึงการประกอบกรรมอัยถูกต้อง

  บุคคลผู้เข้าใจถึงความไม่แตกต่างของอดีต อนาคต และปัจจุบัน เขาได้เข้าถึงปรมัติธรรมอันล่วงพ้นกามกำหนดหมายในเวลา

  บุคคลผู้ซึ่งหยั่งรู้ได้ว่าจิตและสุญญตภาวะคือสิ่งเดียวกัน เขาได้เข้าไปสู่อาณาจักรแห่งธรรมกาย

  บุคคลผู้ไม่กำหนดหมายในความแตกต่างของสุขและทุกข์ เขาได้เข้าถึงหลักคำสอนอันถูกต้อง

  บุคคลผู้ตระหนักชัดถึงความเป็นหนึ่งเดียวของปุถุชนจิตกับพุทธจิต เขาได้เข้าถึงอาณาจักรของความหลุดพ้นอันสูงส่งสมบูรณ์

  บุคคลผู้มิได้พากเพียรเพื่อเข้าถึงสูญตภาวะและอนัตตาธรรม เพื่อถอนความยึดถือทั้งปวง เขาย่อมไม่อาจบรรลุพุทธภาวะไปได้เลย

  ถ้าบุคคลปรารถนาจะเข้าถึงพุทธภาวะในอัตภาพนี้ จงเฝ้าสอบความคิดและตรวจตราดวงจิตของตนอยู่เสมออย่างต่อเนื่อง

  ถ้าบุคคลยังคงยินดีอยู่กับคำสรรเสริญเยินยอ และอยากให้ผู้คนกล่าวขวัญถึง นั้นย่อมหมายถึงเขาได้หลุดล่วงเข้าไปในปากปิศาจร้ายโดยสิ้นเชิง

  ถ้าบุคคลนิยมการติเตียนผู้อื่นและปลื้มใจในการยกยอตนเอง นั้นย่อมหมายความว่า เขาจักต้องตกล่วงลงสู่ก้นบึ้งของนรกอเวจี

  ถ้าบุคคลปราศจากความละลายในกมลสันดานแล้วไซร้ คำสั่งสอนทั้งมวลนี้ก็ไร้ค่าสิ้นความหมาย

 

 

 

 

 

 

 

 

จบความสิ้นสุดพรหมจรรย์

ผู้ที่อยู่ในขุมนรกอเวจี ย่อมถูกครอบงำด้วยความรักชัง

ภูติผีปีศาจ ย่อมทุรนทุรายด้วยความเคียดแค้น

เปรตผู้หิวโหย ย่อมเร่าร้อนอยู่ด้วยความทะยานอยาก

สัตว์เดรัจฉาน ย่อมถูกห่อหุ้มอยู่ด้วยอวิชชา

อสุรกาย ย่อมหดหู่อยู่ด้วยความริษยา

ปุถุชน ย่อมถูกร้อยรัดอยู่ด้วยกามตัณหา

เทพเทวดา ย่อมหมกจมอยู่ด้วยโลกียสุข

สมณะผู้ทะยานอยาก ย่อมตกล่วงลงสู่โลกียวิสัย

ปราชญ์ผู้เย่อหยิ่ง ย่อมดำเนินไปด้วยความลำพองตน

วิสุทธิบุคคล ย่อมดำรงจิตอยู่ในความปล่อยวาง

พุทธสาวก ย่อมเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

  ถ้าบุคคลไม่อาจสามารถตระหนักชัดต่อสภาวะธรรมในภายในได้แล้วไซร้ การถกเถียงกันเอ็ดอึงด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับความหมายอันแท้จริงแห่งพระธรรมคำสอนย่อมนำไปสู่การเพิ่มพูนสะสม และความเย่อหยิ่งลำพองตน

 

  การตัดสินว่าผู้ใดรู้ธรรมหรือไม่นั้น ต้องดูว่าเขาสามารถขจัดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาของตนได้มากน้อยเพียงไร ถ้าเขาทำได้ก็ไม่เพียงแต่แสดงว่าเขารู้ธรรมเท่านั้น หากยังบอกได้ว่า เขาปฏิบัติได้สำเร็จอีกด้วย

  บุคคลที่สามารถสาธยายธรรมได้เก่งและคล่องแคล่วในการโต้เถียง แต่ไม่สามารถขจัดความยึดมั่นในอัตตาตัวตนลงไปได้แต่น้อยนั้นนับได้ว่าเป็นผู้ขาดทุนโดยแท้ เพราะเขาจะเพิ่มพูนความเย่อหยิ่งอหังการให้เพิ่มขึ้น อันเป็นเหตุให้เขายิ่งตกจมลงในสังสารวัฏยิ่งขึ้น

  การศึกษาพระธรรมวินัยโดยไม่ยอมละทิ้งในโลกียสุขและความโอ่อ่าแห่งกามรมณ์ตามที่กระทำกันอยู่อย่างทุกวันนี้นั้นมันเป็นความผิดพลาดที่จะนำความหายนะและความสูญเสียมาสู่ศาสนาแต่โดยสถานเดียว อันเป็นเหตุให้ยิ่งเพิ่มความทุกข์ทรมานมากยิ่งขึ้น

 

 

 

 

 

 

  พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาไว้ก็เพื่อที่จะขจัดความปรารถนาในโลกธรรมทั้งมวลออกจากจิตใจ แต่ก็ยังมีผู้ที่ยังมัวแต่หยิ่งทนงตนในความเป็นปราชญ์เมธีที่ตกเป็นข้าทาสแห่งแรงปรารถนาของตน อีกมากที่หลงคิดว่าตนเองเป็นผู้เข้าถึงธรรมโดยที่ความสลัดปล่อยวางในโลกธรรมของเขามิได้เกิดขึ้นในจิตใจของเขาเลยแม้แต่น้อย

  พระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติข้อวัตรปฏิบัติเอาไว้ก็เพื่อที่ว่า โลกียธรรมทั้งมวลจักได้ถูกถอดถอนละวางลง แต่ก็กลับมีผู้นำมันมาเป็นเครื่องมือแสวงหาโลกียสุขเข้าใส่ตนแล้วยังปฏิญาณตนว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์

  พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้ถึงความมักน้อย สันโดษ ก็เพื่อที่ว่าเครื่องผูกมัดของโลกจักได้ผ่อนคลายลง แต่นักบวชทุกวันนี้กลับเพิ่มพูนยึดติดในความเป็นอยู่อย่างโอ่อ่าแบบโลกๆมากขึ้น

  นักปริยัติที่ปฏิญาณตนว่าเป็นผู้ปฏิบัติโดยไม่มีการสลัดออกนั้นย่อมสามารถเป็นได้แต่เพียง ภูต ที่ท่องเที่ยวไปในฟากฟ้าที่มีลักษณะพูดได้ไพเราะด้วยโวหารอันน่าฟังในเชิงของตรรกะวิทยาเท่านั้น

  การเรียนรู้จดจำไว้มาก ความคิดที่ว่องไว และความเย่อหยิ่งในทิฏฐิของตน เมื่อประกอบรวมกันเข้าย่อมเหมือนดั่งไฟกับฟืน ที่รังแต่จะเผาใหม้จิตใจตน

  เพราะฉะนั้น จงหยุดเข้าใจว่า ถ้อยคำเป็นตัวพระสัจจธรรม เพราะเหตุว่า แม้แต่บุคคลภายนอกศาสนาก็สามารถที่จะกล่าวเล่นได้โดยไม่รู้ความหมายที่แท้จริง

  บุคคลไม่สามารถที่จะหลุดพ้นไปจากกองระทมทุกข์ทั้งมวลได้ด้วยการลูบคลำอยู่แต่เพียงคำพูด โดยมิได้คิดที่จะลงมือปฏิบัติในทางพระสัจจธรรมอย่างจริงจัง

  การขจัดมิฉาทิฏฐิทั้งมวลนั้นมิได้หมายถึง การจบกิจแห่งพรหมจรรย์ดอกหรือ

  การที่ไฟแห่งกิเลสตัณหาราคาดับลงมอดสูญสลายโดยมิต้องพักหรือเพียรนั้นมิได้เป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐที่ยืนยันถึงสัมมาอริยมรรคดอกหรือ

  การบริสุทธิ์แห่งอายนะภายในทั้งหกอันเป็นสภาพปัจจัตตังรู้แจ้งเฉพาะตนมิได้เป็นอริยทรัพย์อันยืนยันถึงความเป็นวิสุทธิบุคคลในศาสนานี้ดอกหรือ

  การเข้าถึงปฏิเวทของความตระหนักชัดต่อสภาพปรมังสุญญังแห่งความว่างเปล่ามิได้เป็นง่าราศีสำหรับอริยสาวกที่รู้แจ้งต่ออริยสัจจธรรมทั้งสี่ดอกหรือ

  การจุดประทีปอันสว่างไสวแห่งสุญตธรรมบนเส้นทางสัมมาอริยมรรค มิได้เป็นประจักษ์พยานถึงความถูกต้องในปฏิปทาที่กำลังบำเพ็ญดอกหรือ

  คัมภีร์ที่หมายถึงความตระหนักชัดและรู้แจ้งในภายในของผู้เข้าถึงอนัตตาธรรม มิได้เป็นคลังมหาสมบัติแห่งเมตตาธิคุณของพระพุทธองค์ที่คอยแจกจ่ายแก่อริยสาวกดอกหรือ

  บรมธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนาซึ่งบุคคลสามารถบรรลุถึงได้ในอัตภาพนี้มิได้เป็นสักขีพยานยืนยันแก่วิสุทธิบุคคลถึงการมีอยู่จริงซึ่งพระนิพพานดอกหรือ

บุคคลต้องเฝ้าสังเกตุดูดวงจิตของตนเอง

เพื่อก้าวล่วงความลังเลสงสัย

บุคคลต้องเฝ้าพากเพียรปฏิบัติบำเพ็ญตน

เพื่อความเจริญยิ่งแห่งกุศลธรรม

บุคคลควรได้บรรลุสู่พระบรมธรรม

เพื่อเป็นสักขีพยานแห่งตน

บุคคลจักต้องเข้าให้ถึงสัจจธรรมอันเป็นเอกภาวะ

เพื่อความรู้แจ้งต่อสิ่งทั้งปวง

 

จาก สมณะธรรมทาส

 

สรุปความ

  เมื่อปรีชาญาณบังเกิดขึ้นภายในอย่างแจ่มแจ้ง

นั่นคือการเข้าถึงอาณาจักรจิตเดิม

  เมื่อปราศจากการมีทั้งภายนอกภายใน นั่นคือการมีสติที่มั่นคง เมื่อไม่มีความสว่างและความมืด นั่นคือโลกแห่งการรู้แจ้ง

  เมื่อปราศจากทั้งความสุขและความทุกข์

นั่นคือการบรรลุบรมธรรม

  เมื่อไม่มีทั้งอดีต อนาคต ปัจจุบัน

นั่นคือการเข้าถึงคำสอนอันถูกต้อง

  เมื่อเข้าใจถึงเหตุปัจจัยปรุงแต่งแห่งรูปสภาวะ

นั่นคือความเข้าใจในสังขตธรรม

  เมื่อเข้าใจถึงความไม่แปรผันนิรันดร์กาล

นั่นคือความเข้าใจในอสังขตธรรม

  เมื่อเข้าใจถึงความสิ้นสุดการเกิดตาย

นั่นคือความเข้าใจต่อพระนิพพาน

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

  ท่านจงปล่อยวางโลกียธรรมลงโดยเด็ดขาดเถิด

ท่านจงละเลิกชีวิตในเส้นทางโลกียวิสัยเสียเถิด

  ท่านจงสละคืนความมั่งคั่งในโลกียสุขทั้งมวลเถิด

ท่านจงสลัดทิ้งความพอใจในโลกียารมณ์ทั้งสิ้นเถิด

  ท่านจงยับยั้งจิตใจออกจากโลกียธรรมทั้งหมดเถิด

ท่านจงหยุดแสวงหาในโลกียทรัพย์ทั้งปวงเถิด

  ท่านจงปลดปล่อยตนออกจากโลกียวินัยกันเถิด

ท่านจงได้อยู่เหนือความหวั่นไหวในโลกธรรมเถิด

  ท่านจงเลิกใส่ใจเรือนกายของตนดุจดั่งคนวิกลจริต

ท่านจงระงับวจีสังขารของตนประดุจคนไข้

  ท่านจงปลดปล่อยจิตวิญญาณของตนให้เป็นอิสระจากอุปาทานในเบญจขันธ์ประดุจดั่งทารกน้อยแรกเกิด

  เหล่านี้คือข้อปฏิบัติสู่สมณะธรรม

 

จาก สมณะธรรมทาส

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

ด้วยความมีสัญชาติแห่งคนตรง

ด้วยการมอบศรัทธาให้อาจารย์ผู้ชาญฉลาด

ด้วยการเพ่งโทษตนเองอยู่เป็นนิจ

ด้วยการไม่คลุกคลีต่อหมู่คณะ

ด้วยการเฝ้าตรวจสอบจิตใจตนอยู่เสมอ

ด้วยการเพ่งเพียรเผากิเลสไม่ท้อถอย

ด้วยการคอยสลัดออกซึ่งอกุศลวิตก

ด้วยการเฝ้าอยู่เหนือกิเลสนิวรณ์เสียได้

ด้วยการอยู่เหนือความเป็นไปแห่งโลกียารมณ์

ด้วยการระงับความหวั่นไหวต่อโลกธรรม

ด้วยการปล่อยวางเบญจขันธ์เสียได้

ด้วยการระงับจิตอยู่ในสุญญตวิหารธรรม

เหล่านี้คือทางสู่อิสระความหลุดพ้น

 

 

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

เมื่อความรุ่มร้อนด้วยเพลิงกิเลสดับสิ้นไป

เมื่อก้าวเคลื่อนไปด้วยเส้นทางมัชฌิมาปฏิปทา

เมื่ออสังขตธรรมปรากฎแจ่มแจ้งออกมา

เมื่อชำระมลทินทั้งหลายได้สิ้นเกลี้ยง

เมื่อแรงรักและความชั่วมอดมลายสลายลง

เมื่อปลงนิวรณ์ออกจากการห่อหุ้มจิตเสียได้

เมื่อไม่หวั่นไหวต่อการขึ้นลงของโลกธรรม

เมื่อความครอบงำของตัณหาราคะมลายสิ้น

เมื่อจิตสถิตย์อยู่ในสุญตวิหารธรรม

เมื่ออยู่เหนือความเป็นไปของโลกียธรรม

เมื่อโครตภูญาณปรากฎอย่างแจ่มแจ้ง

เมื่อเร่งปรีชาญาณเข้าถึงความเห็นแจ้งอนัตตธรรม

เมื่อจิตบรรลุถึงความดับแห่งโลกียารมณ์

เมื่อเกิดการสลัดปล่อยวางเต็มบริบูรณ์

เหล่านี้คือประสบการณ์อันผาสุขของชีวิตสมณะ

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

ด้วยเหตุที่มีอวิชชาห่อหุ้มจิตใจ

บุคคลจึงต้องกระเสือกกระสนไปในสังสารวัฏ

ด้วยเหตุที่อวิชชามิได้ถูกขจัด

บุคคลจึงต้องตกเป็นทาสแห่งราคะตัณหา

ด้วยเหตุที่อวิชชามิได้ถูกละ

บุคคลจึงมิอาจผละจากอกุศลธรรม

ด้วยเหตุที่อวัชชายังเหนี่ยวนำ

บุคคลจึงจำเป็นต้องเวียนว่ายเกิดตาย

ด้วยเหตุที่อวิชชามิได้จางคลาย

บุคคลจึงมิวายประกอบกรรมชั่ว

พระพุทธองค์จึงจำเป็นต้องสั่งสอน

ด้วยเหตุที่อวิชชาจะได้ถูกโกยถอน

พุทธสาวกจึงจำเป็นต้องปฏิบัติในศาสนา

ด้วยเหตุที่อวิชชาจะมิได้เวียนมา

พุทธสาวกจึงจำเป็นต้องถอนอุปาทาน

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

บุคคลผู้ปลงศรัทธาลงในพระธรรม

เขาย่อมนำทุกข์โศกทั้งมวลให้มลายไป

บุคคลผู้ปราศจากโทษทั้งกายวาจาใจ

เขาย่อมเป็นผู้สร้างสมบุญกุศลอันไพบูลย์

บุคคลผู้หมดความถือมั่นในสรรพสิ่ง

เข้าย่อมได้พบแล้วซึ่งความจริงที่แสวงหา

บุคคลผู้สูญสิ้นกิเลสราคะตัณหา

เขาย่อมนำมาซึ่งความสันติสงบสุข

บุคคลผู้อยู่เหนืออิทธิพลของเวรกรรม

เขาย่อมได้ทำความปราชัยให้หมู่มาร

บุคคลผู้หยั่งรู้ถึงธรรมชาติภายใน

เขาย่อมเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

บุคคลผู้ปฏิบัติธรรมจนชีวิตหาไม่

เขาย่อมมีความยิ่งใหญ่กว่าเหล่าราชัน

บุคคลผู้ได้ถอดถอนในอุปาทาน เขาย่อมเป็นผู้ได้สืบสารอริยประเพณี

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

  การคลุกคลีไกล้ชิดนานเกินไป ย่อมนำมาซึ่งความเบื่อหน่ายในเวลาต่อมา

  การอยู่รวมกันเป็นหมู่ ย่อมนำพาไปสู่ความเกลียดชัง

  การต้องการอันไม่หยุดหย่อนของผู้คน ย่อมนำไปสู่ความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

  การคบมิตรชั่ว ย่อมนำไปสู่การกระทำอันเลว

  การมัวแต่ถกเถียงกันในเรื่องความถูกผิด ย่อมนำไปสู่ความเพิ่มศัตรูแห่งตน

  การให้คำมั่นสัญญา ย่อมนำมาแห่งความอึดอัด

  การเป็นอยู่แบบโลกๆ ย่อมเป็นการกระทำที่ไร้สาระ

  การที่ถอดถอนอุปาทานเสียได้

ย่อมเป็นการสิ้นสุดแห่งการปฏิบัติพรหมจรรย์

 

 

 

 

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

  บุคคลผู้ที่ประกอบแต่อกุศลธรรมเนืองๆ เขาย่อมมีแต่ความเศร้าหมองในดวงจิต

  บุคคลผู้หนาไปด้วยความคิดปรุงแต่งในอารมณ์ เขาย่อมเป็นผู้สะสมราคะและโทสะ

  บุคคลผู้ซึ่งตกเป็นทาสแห่งตัณหาราคะ เขาย่อมพกพาแต่ความทุกข์

  บุคคลผู้ซึ่งมีความทะยานอยากอยู่ตลอดเวลา เขาย่อมพกพาแต่ความหิวกระหาย

  บุคคลผู้ซึ่งมีแต่ความคิดริษยา เขาย่อมพกพาแต่ความเร่าร้อนในดวงจิต

  บุคคลผู้วึ่งมีแต่ความอาฆาตมาดร้าย เขาย่อมกระวนกระวายด้วยเพลิงแค้นในกมล

  บุคคลผู้หมกจมอยู่ในโลกียสุข เขาย่อมมีทุกข์อยู่เป็นนิจ

  พุทธสาวกที่ยังสะสมเครื่องบริโภค เขาย่อมเศร้าหมองอยู่เป็นนิจ

 

 

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

  นักบวชที่ชอบสะสมเครื่องบริโภคอันวิจิตร เขาจะต้องสูญเสียจิตบริษุทธิ์ในไม่ช้า

  นักบวชที่สยบต่อความสุขทางกายลิ้นหูตา ในไม่ช้าจะเริ่มประกอบอกุศลธรรม

  นักบวชที่ยินดีต่อการสรรเสริญแห่งถ้อยคำ เขาย่อมทำแต่ความสูญเสียและขาดทุน

  นักบวชที่ยินดีด้วยการห้อมล้อมแห่งฝูงชน เขาย่อมไม่พ้นคำนินทาในเวลาไม่นาน

  นักบวชที่เอาแต่กังวลกับสุขภาพภัยพาล ในไม่นานเขาย่อมสละการบำเพ็ญ

  นักบวชที่หวังชื่อเสียงเกียรติคุณโดดเด่น เขาย่อมเป็นผู้เต็มไปด้วยความคิดชั่วร้าย

  นักบวชที่หวังแต่ความสุขสบาย เขาไม่อาจจะได้อะไรในการปฏิบัติธรรม

  นักบวชที่หมกจมอยู่ในโลกธรรม เขาย่อมเศร้าหมองอยู่เป็นนิจ

 

 

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

  การปฏิบัติบำเพ็ญโดยปราศจากความจริงใจนั้น เป็นการหลอกลวงตนเองด้วยอวิชชา มันย่อมนำพาตัณหาอุปาทานให้ยิ่งเติบโตขึ้น

  การสั่งสอนธรรมโดยการมุ่งหวังชื่อเสียงนั้น มิได้ผิดอะไรกับงานเลี้ยงที่หวังรายได้ มันย่อมนำพาแต่ความละโมบเข้าใส่ตัว

  การปกปิดความชั่วของตนโดยแอบอ้างธรรมนั้น มิได้ผิดอะไรกับการใช้เงินปลอม มันย่อมนำมาซึ่งความยุ่งยากในภายหลัง

  การโอ้อวดภูมิรู้โดยอาศัยตำรานั้น มิได้ต่างอะไรกับการสวมหัวโขนให้ตัว มันย่อมนำมาแต่ความเย่อหยิ่งลำพองตน

  การอนุเคราะห์ผู้คนโดยปราศจากเมตตาจิตนั้น มิได้ต่างอะไรกับการนับถือปิศาจตาเดียว มันย่อมนำมาแต่ความอับโชคให้แก่ชีวิต

 

 

 

 

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

การมุ่งหวังชื่อเสียงเกียรติคุณแล้วบำเพ็ญธรรมหนึ่ง

การรับความเคารพสักการะทั้งๆที่ยังมีจิตคิดชั่วหนึ่ง

การอบรมสั่งสอนธรรมโดยมุ่งหวังผลตอบแทนหนึ่ง

การออกปากช่วยเหลือเพื่อที่จะอวดศักดาของตนหนึ่ง

ทั้งสี่ประการนี้ ย่อมไม่เป็นไปเพื่อความเจริญ

การสนองความตะกละด้วยอาศัยศาสนพิธีหนึ่ง

การสนองความโอ้อวดด้วยอาศัยการเรียนรู้หนึ่ง

การสนองความฟุ้งเฟ้อด้วยอาศัยลาภสักการะหนึ่ง

การสนองกิเลสตัณหาด้วยอสศัยบารมีธรรมหนึ่ง

ทั้งสี่ประการนี้ ย่อมไม่นำมาซึ่งศุภมงคล

การอบรมสั่งสอนโดยไร้ปัญญาภูมิรู้หนึ่ง

การเทศนาธรรมโดยปราศจากเหตุผลหนึ่ง

การแสดงตนเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อหวังศรัทธาหนึ่ง

การทำความคุ้นเคยเพื่อหวังแสวงหาปัจจัยหนึ่ง

ทั้งสี่ประการนี้ย่อมไม่เป็นไปเพื่ออนุเคราะห์ผู้คน

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

  เพื่อมีอิสระจากอิทธิพลของผลแห่งกรรม

จำต้องสำรวมระวังในพระธรรมวินัย

  เพื่อรับความเคารพจากผู้มีความศรัทธาเลื่อมใส

จำต้องมีใจเมตตาและพุทธจิต

  เพื่อยังความปลื้มปีติให้แก่สารานุศิษย์

จำต้องเป็นคนตรงและมีขันติธรรม

  เพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่ผู้มีเวรกรรม

จำต้องทำลายอกุศลแห่งดวงจิต

  เพื่อปลดปล่อยชีวิตของสรรพสัตว์

จำต้องปฏิบัติจนเข้าถึงอภิญญา

  เพื่อกลับใจของผู้คนที่ไร้ศรัทธา

จำต้องมีอิทธิปาฎิหาริย์

  เพื่อกำจัดความทุกข์โศกภัยพาล

จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอน

เพื่อกิเลสตัณหาอุปาทานจะได้ถูกโกยถอน จำต้องอาจหาญปฏิบัติจนเข้าถึงการตรัสรู้

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

  บุคคลที่ไม่อาจยังความเลื่อมใสได้ในสานุศิษย์ เขาย่อมไม่ควรคิดจะตั้งตนเป็นอาจารย์

  บุคคลที่ไม่สามารถควบคุมจิตของตนไว้ได้ เขาย่อมไม่ควรฝันไฝ่เป็นผู้นำ

  บุคคลผู้ซึ่งไม่สามารถสืบทอดอริยประเพณี เขาย่อมไม่ควรมีตำแหน่งโพธิญาณ

  บุคคลผู้ไม่พากเพียรปฏิบัติด้วยความอุตสาหะ เขาย่อมเป็นผู้เลยละต่อพระนิพพาน

  บุคคลผู้ยังไม่ได้รู้เห็นถึงธรรมชาติของจิตเดิม เขามิอาจเพิ่มเติมบรมสุข

  บุคคลผู้ยังกำหนดหมายในความแบ่งแยกเป็นคู่ๆ เขามิอาจที่จะเรียนรู้ปรมัตถ

  บุคคลผู้ไม่สามารถปลดโซ่ตรวนแห่งอัตตาธรรม เขามิอาจใช้ถ้อยคำว่าอิสระเสรี

  บุคคลไม่งดเว้นจากโลกียธรรมทั้งผอง เขามิอาจหวังปองสันติธรรม

 

 

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

  ก่อนที่ศรัทธาในพระธรรมจะหยั่งรากอย่างมั่นคง จงอย่ารับการบริจาคด้วยความสนุกสนาน

  ก่อนที่จะมีสติอันสมบูรณ์แท้จริงในทุกกาล จงอย่าได้อาจหาญข้องแวะกับการกระทำในสิ่งที่ไร้สาระ

  ก่อนที่จะได้ตระหนักชัดต่อสภาวะแห่งจิตเดิม จงอย่าได้ริเริ่มโอ้อวดถึงภูมิรู้อันเป็นปราชญ์ชั้นสูง

  ก่อนที่จะสามารถแจกแจงคำสอนอันลึกซึ้ง จงอย่าได้ถือดึงยึดติดกับความรู้ที่ยังไม่สมบูรณ์

  ก่อนที่บุญกุศลจะเพิ่มพูน จงอย่าได้ดูแคลนผู้ด้อยกว่าตน

  ก่อนที่จะสามารถปล่อยวางกิเลสราคะ จงอย่าได้เลยละการบำเพ็ญในทางธรรม

  ก่อนที่จะสามารถอยู่เหนือวิบากกรรม จงอย่าได้กระทำตนเป็นผู้วิเศษ

  ก่อนที่จะได้เข้าถึงการตรัสรู้ จงอย่าได้คิดตั้งตนเป็นบรมครูสั่งสอน

 

 

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

 มันสำคัญยิ่งนักที่จะต้องรู้ว่า เรือนกายนี้เป็นเพียงมายาดุจสายรุ้งที่ว่างเปล่าไร้ตัวตน

  มันสำคัญยิ่งนักที่จะต้องรู้ว่า ถูตผีปีศาจมิได้ดำรงอยู่จริง ภาพมายาเหล่านี้เป็นเพียงอวิชชาสังขาร

  มันสำคัญยิ่งนักที่จะต้องรู้ว่า โลกียธรรมทั้งมวลเป็นบ่อเกิดแห่งสังสารวัฏอันยาวไกลของภพภูมิ

  มันสำคัญยิ่งนักที่จะต้องรู้ว่าความรักชังเท่านั้นเป็นผู้ก่อกำเนิดกิเลสทั้งมวล อันก่อเกิดตัณหาราคะ

  มันสำคัญยิ่งนักที่จะต้องรู้ว่าปุถุชนจิตกับจิตแห่งพุทธนั้นมีเพียงฉากม่านของอวิชชาบดบังอยู่

  มันสำคัญยิ่งนักที่จะต้องรู้ว่าปรีชาญาณที่บังเกิดขึ้นแจ่มแจ้งภายใน นั่นคือพุทธภาวะจิตเดิม

  มันสำคัญยิ่งนักที่จะต้องรู้ว่าการเข้าถึงอนัตตาธรรม เป็นการทำลายม่านฉากแห่งอวิชชาปุถุชนจิต

  มันสำคัญยิ่งนักที่จะต้องรู้ว่าสุญญตวิหารธรรม นั้นคืออาณาจักรแห่งสัมมาสัมโพธิญาณ

 

 

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

  ถ้าไม่ปฏิบัติธรรมขณะยังหนุ่มสาว ประโยชน์อันใดเล่าที่จะปฏิบัติในวัยชรา

  ถ้ายังไม่ยุติการว่าร้ายนินทา ประโยชน์อันใดเล่าที่จะสมาทานรักษาศีล

  ถ้ายังไม่สามารถปลดความตระหนี่ไปได้ ประโยชน์อะไรจะพูดเรื่องการบริจาคทาน

  ถ้ายังไม่ละเลิกความเป็นผู้เกียจคร้าน ประโยชน์อะไรกับการบำเพ็ญจิตภาวนา

  ถ้ายังไม่ยอมรับวิสุทธิบุคคลเป็นครู ประโยชน์อะไรจะรับครูที่เป็นโมฆะบุรุษ

  ถ้ายังไม่ใส่ใจต่อคำสอนในภายใน ประโยชน์อะไรที่จะรับคำสอนไร้สาระในสังสาร

  ถ้ายังไม่เลิกความเป็นผู้เสแสร้งฉ้อฉล ประโยชน์อะไรกับการสร้างสมคัมภีร์ศาสนา

  ถ้ายังไม่มีจิตสวมลงในพระธรรม ประโยชน์อะไรเล่าที่จะปฏิบัติตามคำสอน

 

 

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

  ถ้าปราศจากความเข้าใจอันลึกซึ้ง การถือดึงปฏิบัติย่อมเป็นไปเพื่อสังสาร

  ถ้าพิษร้ายแห่งมานะทิฏฐิมิได้ถูกถอน การรอบรู้ทั้งมวลล้วนนำไปสู่ความล้มเหลว

  ถ้าความคิดริษยายังไม่ถูกขจัด การปฏิญาณตนเพื่อบรรลุธรรมย่อมเป็นความฝัน

  ถ้ายังเป็นผู้มีมายากาไกย์ การฝันไฝ่สันติธรรมย่อมไร้ผล

  ถ้ายังเป็นผู้มีความเสแสร้งฉ้อฉล การฝันไฝ่หาบรมสุขก็ไร้ความ

  ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นในสภาวะสุญญตา การพร่ำพูดถึงธรรมก็เป็นแค่คำสอน

  ถ้าอุปาทานยังไม่ได้ถูกโกยถอน การเข้าถึงพระนิพพานย่อมมืดมน

  ถ้ายังคิดหลอกลวงผู้คน การถือเพศนักบวชย่อมต่ำทราม

 

 

 

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

ถ้าบุคคลหวังพ้นทุกข์ เขาต้องละความสุขในโลกีย์

ถ้าบุคคลใดหวังความดี เขาต้องเพียรกระทำตามคำสั่งสอน

ถ้าบุคคลใดหวังความงาม เขาต้องพยายามแม้ว่าจะยากเข็ญ

ถ้าบุคคลใดหวังโดดเด่น เขาต้องกระทำเหนือกรรมชั่ว

ถ้าบุคคลใดหวังเป็นใหญ่ เขาต้องขยันใผ่เพียรบำเพ็ญ

ถ้าบุคคลใดหวังสงบ เขาต้องหลีกหลบหมู่คณะ

ถ้าบุคคลใดหวังเพียรละ เขาต้องอดทนคำติฉิน

ถ้าบุคคลใดหวังโกยถอน เขาต้องปล่อยวางในสังขาร

ถ้าบุคคลใดหวังรู้แจ้ง เขาต้องเพียรเพ่งในภายใน

ถ้าบุคคลใดหวังวิมุติ เขาต้องหยุดยั้งความอยากที่หลั่งไหล

 

 

 

 

 

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

เก่ง ปฏิบัติ นั้น เมื่อขจัดชั่ว พาตัวสง่า

เก่ง ปฏิปทา นั้น เมื่อพาตน พ้นเศร้าหมอง

เก่ง ปฏิรูป นั้น เมื่อ ตัวดี ศีลธรรมครอง

เก่ง ปฏิวัติ นั้น เมื่อ ต้องเพียรบำเพ็ญ

เก่ง ปฏิสัณฐาน นั้น เมื่อ คบหาพระสัมมา

เก่ง ปฏิคน นั้น เมื่อ เข้าได้ ไม่ขันเขิน

เก่ง ปฏิสังขร นั้น เมื่อรักษาไว้ ได้นานเนิ่น

เก่ง ปฏิภาณ นั้น เมื่อ รอบรู้ ดูฉับไว

เก่ง ปฏิการ นั้น เมื่อ มาดหมายด้วยเหตุผล

เก่ง ปฏิทิน นั้น เมื่อจำจิต ตนแม่นมั่น

เก่ง ปฏิกริยา นั้น เมื่อเข้าได้ ไม่ไหวหวั่น

เก่ง ปฏิหาร นั้น เมื่อขจัดสิ้น กิเลสสลาย

เก่ง ปฏิโมกข์ นั้น เมื่อสูญสลายทุกสิ่งชั่ว

เก่ง ปฏิเวท นั้น เมื่อเจียมตัว สติมั่น

เก่ง ปฏิปริยัต นั้น เมื่อรู้ว่างทุกสิ่งอัน

เก่ง ปฏิญญา นั้น เมื่อ ให้สัจจะมั่นอยู่ดำรงคง

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

กินน้อยๆ แน่อยู่เพื่ออยู่ได้

นอนน้อยๆ เพื่อใจหายง่วงเหงา

พูดน้อยๆ แน่อยู่เพื่อจิตเบา

แต่คนเราต้องเพียรกล้าเพื่อฆ่ามาร

จริงแท้ๆ แน่อยู่ดูร่างผี

ดีแท้ๆ แน่หละ เมื่อละได้

เรียนแท้ๆ แน่นอน ต้องที่กาย

รู้แท้ๆ แน่รู้ได้ ที่จิตตน

เป็นแท้ๆ แน่หละ เมื่อมีศีล

สิ้นแท้ๆ แน่หละ เมื่อละกิเลสได้

จบแท้ๆ แน่นอน สิ้นรักกาย

หยุดแท้ๆ แน่หยุดได้ในอุปาทาน

ถึงแท้ๆ แน่สนิท ตอนจิตว่าง

ตายแท้ๆ แน่นอน ตอนปล่อยวาง

ร่างแท้ๆ แน่อยู่ ตอนรู้ธรรม

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

เจริญธรรม จำไว้ จิตไร้ทุกข์

เจริญวัตถุ จำไว้ ธรรมหม่นหมอง

เจริญภาวนา จำไว้ จิตสมปอง

เจริญแสวงหา จำไว้ ต้องทุกข์ลำเค็ญ

เจริญทรัพย์ นับวัน ยิ่งเพิ่มทุกข์

เจริฐปลูก นับวัน ยิ่งเศร้าหมอง

เจริญสร้าง นับวัน ไร้สมปอง

เจริญชั่ว จำต้อง ชีพกระเด็น

เจริญลาภ นั้นยิ่ง ฉาบด้วยทุกข์

เจริญยศ นั้นยิ่ง ทุกข์ติฉิน

เจริญชื่อ นั้นยิ่ง เสี่ยงอยู่เย็น

เจริญศักดิ์ นั้นยิ่ง เป็นกังวล

เจริญวัย ยิ่งไกล้ มรณะ

เจริญละ ยิ้งไกล้ วิสุทธิสัย

เจริญกิริยา ยิ่งไกล้ ธรรมวินัย เจริญใจ ยิ่งไกล้ นฤพาน

ดูก่อนท่านทั้งหลาย

การเข้าถึงความดับไม่เหลือ เป็นการเข้าถึงอันสูงสุด

การเจริญวิปัสนา เป็นการท้าทายที่น่าทดลอง

การฝึกอาณาปาณสติ เป็นบทฝึกหัดที่ควรทดสอบ

การเรียนรู้เรื่องกายใจ เป็นการเข้าสู่อาณาจักรศักดิ์สิทธิ์

การเข้าถึงพุทธภาวะ เป็นการเข้าถึงความลับสูงสุด

การสิ้นสุดภพ เป็นการสิ้นสุดธรรม

จงอย่าปล่อยให้ชีวิตเสียไปในสิ่งที่ไร้สาระ

จงเฝ้าสังเกตุให้ดีถึงความไม่เกิดไม่ดับภายในดวงจิต

จงเลิกยุ่งเกี่ยวกับโลกียสุขแห่งวัฏสงสารโดยสิ้นเชิง

จงเลิกใช้ชีวิตในเส้นทางแห่งโลกียวิสัยทั้งปวง

จงเลิกแสวงหาแลพเลิกหวั่นไหวในโลกธรรมทั้งมวล

จงเลิกเข้าใจว่าความทุกข์ทรมานเป็นความเจ็บป่วย

จงอย่าแส่ส่ายไปมากทั้งการกระทำและคำพูด

จงไตร่ตรองปฏิบัติตามนี้เถิด จงเจริญพร

จาก สมณะธรรมทาสหรือธรรมทาสภิกษุ /.

  ภิกษุทั้งหลาย โยคกรรม อันเธอพึงกระทำ เพื่อให้รู้ว่า นี้ทุกข์

นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับสนิทไม่เหลือแห่งทุกข์ นี้ทางให้ถึงความดับสนิทแห่งทุกข์

  นิพพาน เราได้แสดงแล้ว ทางให้ถึงนิพพาน เราก็ได้แสดงแล้ว แก่เธอทั้งหลาย กิจใด ที่ศาสดาผู้เอ็นดู แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาสัยความเอ็นดูแล้ว จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย  กิจนั้น  เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ

  นั่น โคนไม้ นั่น เรือนว่าง พวกเธอจงเพียรเผากิเลส

อย่าได้ประมาท อย่าเป็นผู้ที่ต้องร้อนใจ ในภายหลังเลย

  นี่แหละ วาจาเครื่องพร่ำสอนของเรา แก่เธอทั้งหลาย.

 

  สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งที่เป็นคนพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมี และยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นที่ไปถึงในเบื้องหน้า เปรียบเหมือนภาชนะดินที่ช่างปั้นหม้อปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกแล้วและยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายเป็นที่สุด ฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลายก็มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น

 

  วัยของเรา แก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเรา ริบหรี่แล้ว

เราจักละพวกเธอไป สรณะของตัวเองเราได้ทำไว้แล้ว

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล เป็นอย่างดี มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด

  ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว จักละชาติสงสาร ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รวมปุ่มลัด และคำสั่ง SolidWorks ในหมวดต่างๆ พร้อมไอคอนและชื่อคำสั่ง

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน โปรแกรม 3 มิติ ที่ได้รับความนิยมสูงมากในปัจจุบัน ที่ไม่ต้องบอกก็ทราบว่าคือโปรแกรมอะไร การฝึกฝนและจดจำคำสั่งสำหรับผู้เริ่มต้นจะเป็นอะไรที่ค่อนค่างยุ่งยาก จึงขอสรุปเป็นภาพและนำมาฝากทุกท่านครับ ขอให้ทุกท่านบรรลุผลในสิ่งที่มุ่งหวังทุกประการ ท่านสามารถพิมพ์เป็นเอกสารหรือบันทึกเก็บไปใช้ได้ตามความประสงค์ ขอบคุณที่มาของเอกสารด้วยครับ

ขนาดของเพลาและขนาดร่องลิ่ม

            หลายครั้งที่ผู้เขียนไปวัดแบบเครื่องจักรที่มีส่วนประกอบของเพลาและร่องลิ่ม จึงขอนำความรู้เกี่ยวกับเรื่องร่องลิ่มมาฝาก โดยในบทความนี้ไม่ขอลงลึกในส่วนการคำนวณ หรือสูตรต่างๆ แต่ขอยกวิธีการใช้งานมาเลย นั่นคือ เพลาขนาดเท่าไหร่ จึงจะใช้ร่องลิ่มขนาดที่สัมพันธ์กัน โดยอาศัยตารางที่แนบมานี้ หวังว่า พี่น้องชาววิศวกรออกแบบทุกท่าน คงจะออกแบบได้ง่ายขึ้น  หรือ ท่านผู้อ่านสามารถดาวน์โหลด App ไปใช้งานบนอุปกรณ์ Android กันได้ง่ายๆ เกี่ยวกับขนาดเพลาและร่องลิ่ม ราคาแอปพลิเคชั่นแค่ 13 บาท จากที่นี่  https://play.google.com/store/apps/details?id=com.appybuilder.Anuwat_Kongpan.Shaft_and_Key   สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิศวกรรมได้ที่นี่ครับ

การออกแบบ Screw Conveyor

สกรูคอนเวย์เยอร์ คืออะไร? คาดว่าทุกท่านคงรู้จักกันดี เป็นเกลียวหมุนอยู่ในรางหรือในท่อทรงกลม เพื่อลำเลียงวัสดุบางอย่างตามที่ออกแบบคำนวณไว้ ส่วนประกอบต่างๆมีดังนี้ ประวัติของสกรูคอนเวย์เยอร์นี้ มียาวนานมาก สมัยอาร์คีมีดีส ผันน้ำตั้งแต่ก่อนเริ่มศาสนจักรไป 267 ปี เชียวนะ ( จริงๆ นะ )  มีหลายแบบ ทั้งแบบมีเพลาและไม่มีเพลา ( Ribbon ) ขึ้นอยู่กับว่าเราออกแบบเพื่อลำเลียงอะไร ข้อได้เปรียบของสกรูคอนเวย์เยอร์คือ 1.สร้างง่าย 2.น้ำหนักเบา 3.ใช้พื้นที่น้อย 4.ต้นทุนการทำงานต่ำ 5.ลำเลียงวัสดุได้หลายหลาก 6.ลำเลียงได้ทุกองศาตั้งแต่แนวราบจนถึงแนวดิ่ง ความเลวของสกรูคอนเวย์เยอร์ ( 55 ) 1.มีการสึกหรอของรางที่เสียดสีกับวัสดุ 2.วัสดุที่ลำเลียงอาจถูกกระทบโดนใบสกรู 3.ความแข็งแรงขึ้นกับวัสดุที่ขนถ่าย อาจจะใชำกำลังไฟฟ้ามากในบางกรณี Parameter ต่างๆที่เกี่ยวข้องมีดังนี้ 1.Screw Pitch คือระยะพิทช์ของใบสกรูนั่นเอง 2.RPM of screw คือ รอบการหมุนของใบสกรูลำเลียง 3.Inclination Factor ค่าแฟคเตอร์มุม หรือ ค่า C  4.Loading efficiency ค่านี้ดูได้จากวัสดุกัดกร่อนมากหรือน้อ